เปลี่ยนการแสดงผล
#ทีมล่าเมฆตลุยแดนเจงกีสข่าน
5 มิถุนายน 2563 259 ครั้ง

#ทีมล่าเมฆตลุยแดนเจงกีสข่าน
ทันใดที่ได้เหยียบแผ่นดินมองโกเลีย ทำให้นึกถึงภาพเตมูจิน(Temujin) ชายหนุ่มนักรบนักรักของมองโกเลีย ควบม้าด้วยความช่ำชองอย่างสนุกสนานไปทั่วทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ เตมูจิน แปลว่า ช่างตีเหล็ก ในภาษาของชาวเผ่า Tatar หรือมองโกเลียที่ชาวรัสเซียเรียกชาวเผ่านี้ เตมูจินเป็นชื่อของหัวเผ่า Tatar ที่ถูกจับโดยบิดาของเตมูจิน ซึ่งบิดาของเตมูจินเป็นชนกลุ่มน้อยเผ่า Kiyad ในมองโกเลีย 
ประเพณีชาวมองโกเลีย จะตั้งชื่อบุตรชายตามชื่อแม่ทัพหัวหน้าข้าศึก เพื่อให้ความกล้าหาญ และความแข็งแรงของศัตรูที่ตนจะฆ่าได้ถ่ายทอดสู่บุตรของตน ชาวมองโกเลียยังนิยมแต่งงานกับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า นอกจากจะให้กำเนิดบุตรได้ในเวลารวดเร็วแล้ว ภรรยายังสามารถให้คำแนะนำดี ๆ แก่สามีเด็กของนางได้ด้วย  เตมูจินจึงได้แต่งงานตั้งแต่อายุ 8 ขวบกับ Börte ผู้เป็นบุตรสาวของหัวหน้าเผ่า Onggirad Börte 
เมื่อเตมูจินเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเผ่า ได้ระดมนักรบจากเผ่าต่างๆที่มีบรรพบุรุษร่วมกันมาเป็นพันธมิตรร่วมน้ำสาบาน และเผ่าที่ทำสงครามแพ้เข้ารวมเป็นกองทัพ เมื่อกองทัพของเตมูจินมีกำลังมากขึ้น ๆ จึงได้ทำสงครามชนะในการสู้รบกับชนเผ่าต่างๆในภูมิภาคนั้น และขยายอาณาเขตไปมากมาย

 ใน พ.ศ. 1749 หลังจากทำสงครามชนะศึกไปทั่วสารทิศ เตมูจินสถาปนาตนขึ้นเป็นเจ็งกิสข่าน (Genghis Khan) นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่า จักรพรรดิเจ็งกิสข่านทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่า Alexander Hannibal Caesar Attila และ Napoleon เจ็งกิสข่านสามารถครอบครองดินแดนที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางตั้งแต่ทะเลดำ (Black Sea) จนถึงทะเลเหลือง (Yellow Sea) และทุกหนแห่งที่กองทัพมองโกเลียเดินทางถึง และเมื่อมีการครอบครองพื้นที่ใด จะมีการสมรสระหว่างทหารกับสาวพื้นเมืองในประเทศนั้นๆ ดังนักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซียในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ที่รู้ภาษามองโกเลียดี ได้เคยบันทึกคำพูดของเตมูจินว่า "สิ่งที่ดีที่สุดในการทำสงครามใด ๆ คือ การรบชนะ การได้ขี่ม้าที่ดีที่สุด และได้ครอบครองภรรยาของแม่ทัพข้าศึก" จึงทำให้ลูกหลานมีโครโมโซมชนิด Y ของชาวมองโกเลีย อยู่ในภูมิภาคเหล่านี้ ซึ่งท่านที่ชอบภรรยาที่มีอายุมากกว่าอาจจะเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้นะครับ

ชาวมองโกเลียมีความผูกพันกับม้ามาก เมื่ออากาศแห้งแล้ง หญ้าจะขาดแคลน ทำให้ม้าไม่มีอาหารจะบริโภคจนอาจล้มตายได้ ดังนั้น ชนชาวมองโกเลียจึงต้องอพยพย้ายถิ่น การอพยพทำให้มีการล่วงล้ำอาณาเขตการยึดครองของชนเผ่าต่าง ๆ และนี่ก็คือที่มาของสงครามเผ่า 
ปัจจุบันมองโกเลียต้องหันมาทำสงครามกับภัยแล้งกับพื้นที่ของตนเองแทน โดยการทำฝนเทียมด้วยเทคโนโลยีจากประเทศจีนได้แก่ จรวดฝนเทียมที่บรรจุซิลเวอร์ไอโอไดด์ และการเผาซิลเวอร์ไอโอไดด์จากภาคพื้นที่ใช้ในการทำฝนเมฆเย็น ซึ่งเป็นเมฆที่อยู่ตั้งแต่ระดับ 18,000 ฟุตขึ้นไปและมีอุณหภูมิในก้อนเมฆน้อยกว่า 0 องศาเซลเซียส ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามสภาพอากาศแห่งมองโกเลีย
ปี2557 เอกอัครราชฑูตมองโกเลียประจำประเทศไทยได้กราบบังคมทูล เรื่อง ประธานาธิบดีแห่งประเทศมองโกเลียขอให้นำความกราบทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอรับการสนับสนุนจากประเทศไทยในการจัดอบรมการทำฝนหลวงของไทยให้กับเจ้าหน้าที่ของมองโกเลีย กรมฝนหลวงฯจึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจสภาพอากาศและสภาพพื้นที่เบื้องต้นของมองโกเลียเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีฝนหลวงของไทย
ปี2561 คณะเจ้าหน้าที่ของมองโกเลีย จำนวน 5 คน ได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุรี และศึกษาดูงานและร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติการฝนหลวง และศึกษาดูงานหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของไทย ตลอดจนเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของมองโกเลียนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และทางฝ่ายไทยได้ไปศึกษาดูงานการดัดแปรสภาพอากาศของมองโกเลีย และหารือการดำเนินการโครงการความร่วมมือ ณ กรุงอุลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ในปีเดียวกัน
ปี2562 เจ้าหน้าที่มองโกเลียได้เข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Training on Wheather Modification 2019 และการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศและเทคโนโลยีฝนหลวง ณ ประเทศไทย
ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดกรอบความร่วมมือในรูปแบบของแผนงานปฏิบัติการร่วม(Joint Action Programme for Thechnical Cooperation on Wheather Modification:JAP)ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งมองโกเลีย เพื่อแลกเปลี่ยนและวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งมีกำหนดลงนามในเดือนมิถุนายน 2563 แต่ด้วยสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 จึงมีการเลื่อนการลงนามออกไปก่อน
การศึกษาดูงานและการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศและเทคโนโลยีฝนหลวงของไทย และการศึกษาดูงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพัฒนาไปสู่ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลมองโกเลีย ยังความปลาบปลื้ม และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้แก่ชาวมองโกเลีย

#น้ำใจไม่มีพรมแดน
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

 

ภาพและวีดีโอ