เปลี่ยนการแสดงผล
#ฝนหลวงคลายทุกข์ให้ชาวอิเหนา
6 มิถุนายน 2563 378 ครั้ง
อินโดนีเซียเป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรอินโดจีนและทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว ประเทศปาปัวนิวกินีบนเกาะนิวกินี และประเทศติมอร์ตะวันออกบนเกาะติมอร์
ประเทศอินโดนีเซีย นับว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุต่างๆ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ดีบุก และเหล็ก รวมทั้งมีภูมิประเทศที่เอื้อต่อการทำประมงจับสัตว์น้ำ และทำเกษตรกรรม โดยปลูกพืชแบบขั้นบันได พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยาสูบ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ โกโก้ และเครื่องเทศ โดยเฉพาะกาแฟขี้ชะมดอันเลื่องชื่อ
นอกจากนั้นอินโดนีเซียยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออีกมากมายเช่น เมืองเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมฮินดูและสภาพภูมิประเทศที่สวยงามอย่างบาหลี ศาสนสถานอันเป็นมรดกโลกบุโรพุทโธ ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 9 จากหินภูเขาไฟสีดำที่มีความสวยงามอลังการอย่างยิ่งบนเกาะชวา ตลอดจนเกาะแก่งต่างๆที่มีชายหาด หินสวย น้ำใส และปะการังที่สวยงาม อีกทั้งทะเลสาบบนยอดภูเขาไฟที่ดับแล้วพร้อมอากาศที่เย็นสบาย แต่ละที่ชวนให้คนที่ไปเยือนหลงใหลอยากกลับไปเยือนอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
ด้วยสภาพภูมิประเทศของอินโดนีเซีย มีลักษณะเป็นป่าฝนเขตร้อน สภาพอากาศร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 25-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 75-95% ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 706 มิลลิเมตรซึ่งถือว่ามีปริมาณไม่ได้มากนัก อินโดนีเซียจึงประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าและหมอกควัน ทุกปีเหมือนกับประเทศอื่นๆรวมทั้งประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซียจึงมีความสนใจในการทำฝนเทียมเพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว
ประเทศอินโดนีเซียจึงเริ่มศึกษาการทำฝนจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2519 โดยการส่งนักวิทยาศาสตร์มาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ต่อมาในปี 2520-2525 ได้ทำการทดลองทำฝนในอินโดนีเซีย โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศไทยในการให้คำแนะนำ และถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ของอินโดนีเซียจากทีมผู้เชี่ยวชาญไทย
ปี2528 อินโดนีเซียได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ (Weather Modification Technology Center:WMTC) เพื่อให้บริการในการทำฝนสำหรับเพิ่มปริมาณน้ำ ดับไฟป่า และบรรเทาปัญหาหมอกควัน สำหรับภาครัฐและเอกชน จนกระทั่งปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศ(National Laboratory for Weather Modification Technology: BPPT) เพื่อรับจ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการทำฝนด้วยเทคโนโลยีของไทยและเทคนิคการเผาสารจากภาคพื้นดินในการเติมน้ำให้เขื่อน ดับไฟป่า บรรเทาปัญหาหมอกควัน เพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่เกษตรและป่าพรุ ตลอดจนการลดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝน
ปี2562 เจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Training on Weather Modification 2019 ที่ประเทศไทย โดยกรมฝนหลวงฯเป็นเจ้าภาพ และร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำฝนในอินโดนีเซีย ในการฝึกอบรมครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีความเห็นร่วมกันที่จะดำเนินการความร่วมมือในการพัฒนาการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน โดยได้ร่วมกันยกร่างบันทึกความเข้าใจ(MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ประสบการณ์ งานวิจัยและการพัฒนาบุคลากร ซึ่งกำหนดลงนามความร่วมมือในปีนี้(2563) ทั้งนี้ยังไม่สามารถลงนามความร่วมมือฉบับนี้ได้เนื่องจากการระบาดไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19
ฝนหลวงหรือฝนเทียมในต่างประเทศถูกประยุกต์ใช้เสมือนยาขนานเอกในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆทั้งภัยแล้ง ดับไฟป่า บรรเทาปัญหาหมอกควัน และลดปริมาณฝนในพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝน ซึ่งอินโดนีเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าวทุกปีและในบางปีปัญหาไฟป่าของอินโดนีเซียยังส่งผลกระทบเรื่องหมอกควันมายังภาคใต้ตอนล่างของไทยอีกด้วย
จะเห็นว่าอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พยามจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการทำฝนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงจากไทย อันเนื่องจากพระเมตตา และพระมหากรุณาธิการของพระราชาไทย
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

ภาพและวีดีโอ