เปลี่ยนการแสดงผล
#เมื่อชาวมังกรอยากเล่นน้ำฝนหลวง
12 มิถุนายน 2563 269 ครั้ง
#เมื่อชาวมังกรอยากเล่นน้ำฝนหลวง
  สาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า "จงกั๋ว" ซึ่งแปลว่า "อาณาจักรกลาง" หรือบางท่านอาจจะเรียกว่าดินแดนมังกร ดินแดนมังกรนี้ตั้งอยู่บนทวีปเอเชียตะวันออก มีพรมแดนติดต่อกับประเทศต่างๆ โดยรอบ 15 ประเทศ คือ เกาหลีเหนือ รัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน เคอร์กิชสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่า ลาว และเวียดนาม ขณะที่ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้
  ดินแดนนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่มากถึง 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร นับเป็นดินแดนที่มีพื้นที่ทั้งหมดใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 หรือ 4  แล้วแต่วิธีการวัด ลักษณะภูมิประเทศมีความหลากหลาย ตั้งแต่ป่าสเต็ปป์และทะเลทรายในพื้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือ และเป็นป่าฝนกึ่งโซนร้อนในพื้นที่ชื้นทางใต้ ส่วนภูมิประเทศทางตะวันตกนั้นขรุขระและเป็นที่สูงโดยมีเทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาเทียนชาน กั้นเป็นพรมแดนตามธรรมชาติ ในทางตรงกันข้าม แนวชายฝั่งด้านตะวันออกนั้นเป็นที่ราบต่ำ และมีแนวชายฝั่งยาว 15,500 กิโลเมตร (ยาวที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก) ซึ่งติดต่อกับทะเลจีนใต้ ทางใต้ และทะเลจีนตะวันออกทางตะวันออก 
  ชาวมังกรมีลูกหลานมากที่สุดในโลก มากถึง 1,393 ล้านคน ด้วยประชากรจำนวนมากของจีนทำให้มีความต้องการน้ำปริมาณมากด้วยเช่นกัน ทั้งในการอุปโภค บริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม ถึงแม้จีนจะมีแม่น้ำที่ใหญ่ๆสำคัญๆหลายสาย และเขื่อนขนาดใหญ่มากมาย แต่จีนก็ยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆเช่นเดียวกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆในโลก จีนจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศในหลายรูปแบบตั้งแต่การใช้อากาศยานแบบของไทย รูปแบบจรวด รูปแบบปืนใหญ่ ตลอดจนการเผาเป็นควันจากภาคพื้น ขึ้นกับความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศที่หลากหลายของจีน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการทำฝนเมฆเย็น ภายใต้การดูแลของศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศ (Weather Modification Center) องค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Meteorological Administration; CMA) โดยวัตถุประสงค์การดัดแปรสภาพอากาศของจีนมี 3 ด้านคือ การเพิ่มปริมาณฝน การลดปริมาณฝน และการยับยั้งพายุลูกเห็บ ในคราวที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อน 2008(พ.ศ. 2551 ) ประเทศจีนได้ใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศ ด้วยวิธีการยิงปืนใหญ่ในการสลายเมฆให้ตกเป็นฝนลงสู่ทะเลก่อนที่เมฆเหล่านั้นจะเคลื่อนตัวเข้ามาตกในแผ่นดินใหญ่ ทำให้พิธีเปิดที่เมืองปักกิ่ง ในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่โดยไม่มีฝนตกมาเป็นอุปสรรคต่อพิธีเปิด 
  ในปี2561 ประเทศไทยโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Workshop on Weather Modification 2018) จีนได้ส่งผู้แทนจากศูนย์ดัดแปรสภาพอากาศ ภายใต้องค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ราย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำฝนของสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้มีการเชิญบุคลากรของกรมฝนหลวงฯศึกษาดูงานศูนย์ดัดแปรสภาพอากาศแห่งมณฑลส่านซี(Shaanxi Weather Modification Office) และโรงงานผลิตจรวดดัดแปรสภาพอากาศ Shaanxi Zhongtian Rocket Company ณ เมืองซีอาน มณฑลส่านซี 
  เจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงฯจึงได้เดินทางไปศึกษาดูงานตามคำเชิญ เนื่องจากกรมฝนหลวงฯอยู่ระหว่างการพัฒนาจรวดฝนหลวงเพื่อมาประยุกต์ใช้ในการยับยั้งพายุลูกเห็บร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หลังจากการศึกษาดูงานในครั้งนั้น ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีนมีความเห็นให้มีความร่วมมือกัน 3 ด้าน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำฝน การพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ และเครื่องมือตรวจวัดทางเมฆฟิสิกส์ เช่น Cloud Chamber สำหรับเมฆอุ่น โดยฝ่ายจีนมีความสนใจในการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทานในขั้นตอนแรกคือ ขั้นก่อกวนหรือก่อเมฆ เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากการทำฝนในประเทศจีนจะเป็นการดำเนินการในขั้นตอนโจมตีเป็นหลัก โดยดำเนินการหลังจากที่มึเมฆธรรมชาติเกิดขึ้นแล้ว 
  ต่อมาในปี 2562 กรมฝนหลวงฯได้มีการจัดการฝึกอบรม ASEAN Training on Weather Modification 2019 ประเทศจีนได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในครั้งนี้อีกเช่นกัน และทั้งสองฝ่ายร่วมกันจึงได้ร่วมกันจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงทางวิชาการว่าด้วยการดัดแปรสภาพอากาศ (Agreement) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคโนโลยี และพัฒนาบุคลากร รวมทั้งร่วมกันวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งได้รับการพิจารณาปรับแก้ถ้อยคำ Agreement จากกระทรวงต่างประเทศ รวมทั้งพิจารณาว่าไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ไม่ต้องนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี โดยจะลงนามใน Agreement ภายใต้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประเทศจีนนับว่าเป็นประเทศชั้นนำในการดัดแปรสภาพอากาศในระดับโลกสำหรับฝนเมฆเย็น และการยับยั้งลูกเห็บ ขณะเดียวกันประเทศจีนก็ยอมรับในเทคโนโลยีการทำฝน ตามตำราฝนหลวงพระราชทานสำหรับเมฆอุ่นของไทย จึงมีความประสงค์ที่จะมีความร่วมมือกับประเทศไทย โดยประเทศจีนได้กำหนดให้มีการลงนามความร่วมมือในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 จึงมีการเลื่อนการลงนามออกไปก่อน
  จะเห็นว่าจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก แต่ละประเทศจึงล้วนเรียกหาเทคโนโลยีที่แต่ละประเทศมีความชำนาญใช้ในการแก้ปัญหา มาแลกเปลี่ยน และพัฒนาร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้มวลมนุษยชาติด้วยกันทั้งสิ้น และสักวันหนึ่งลูกหลานชาวมังกรคงได้ออกมาเริงร่าเล่นน้ำฝนที่เกิดจากน้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 แห่งราชอาณจักรไทย
#นักปราชญ์ย่อมมองเห็นความเป็นปราชญ์
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ