เปลี่ยนการแสดงผล
#สิ่งศักดิ์สิทธิ์
7 กรกฎาคม 2563 655 ครั้ง

#สิ่งศักดิ์สิทธิ์
  ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่กับคนไทยมาแต่อดีต ส่วนมากจะพบเห็นได้จากศาลพระภูมิ ห้องพระประจำบ้าน ศาลตายาย พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง พระเครื่อง รูปเหมือนพระสงฆ์ที่เคารพเลื่อมใส ศาลหลักเมือง ศาลพระพรหม รวมไปถึงศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่
อย่างไรก็ตามคนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อและเคารพนับถือพระแก้วมรกตและพระสยามเทวาธิราชมากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะบ้านเมืองผ่านเหตุการณ์วิกฤตมาหลายครั้งหลายหน ทุกคนเชื่อว่าเป็นเพราะบารมีของพระแก้วมรกตและพระสยามเทวาธิราชที่คอยปกปักรักษาประเทศไทย แต่จริงๆแล้วพระสยามเทวาธิราชเป็นเพียงประมุขของเทพารักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง มีเทพบริวารสำคัญ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระหลักเมือง เป็นต้น
  พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูปถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์มีมงกุฏเป็นเครื่องศิราภรณ์พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ 
องค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันท์ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีนมีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า "ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช" เรือนแก้วเก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังของพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง
  กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีสิ่งศักดิ์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแด่ชาวกรมฝนหลวงฯ โดยความเมตตาจากพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานพระครูพราหมณ์คนปัจจุบัน ได้กำหนดฤกษ์ยามและทำพิธีบวงสรวงแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามของกรมฝนหลวงฯได้แก่ หอพระพุทธรูปปางคันธารราฐ หรือพระพุทธรูปปางขอฝน หอพระพรหม และศาลตายาย
1.พระพุทธรูปปางคันธารราฐ หรือพระพุทธรูปปางขอฝน มีลักษณะพระกรขวาอยู่ในท่ากวักพระหัตถ์ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาในท่าหงาย เหมือนรองรับน้ำฝน สร้างในลักษณะประทับยืนหรือนั่งก็ได้ซึ่งมีการสร้างครั้งแรกในสมัยพระพุทธกาลโดยพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในคันธารราฐที่ทรงเลื่อมใสที่พระพุทธเจ้าได้ช่วยเหลือชาวแคว้นโกศลที่ประสบภัยแล้งโดยพระองค์ทรงผ้าอุทกสาฎก(ผ้าชุบสรง) ทรงยืนที่บันไดขอบสระโบกขรณี แสดงอาการจะสรงสนาน พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นมหาเมฆก็ตั้งขึ้นทางทิศประจิม และฝนก็ตกลงมาเป็นอันมาก ด้วยบารมีพระพุทธคุณพระเจ้าแผ่นดินแห่งคันธารราฐจึงได้สร้างพระพุทธรูปปางขอฝนนี้และนำออกมาบูชาขอฝนเสมอๆในยามที่เกิดภัยแล้ง ปัจจุบันพระพุทธรูปปางคันธารราฐยังได้นำมาประดิษฐานในพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งมีจำนวน4องค์ได้แก่ พระพุทธคันธารราฐประทับนั่งองค์ใหญ่สร้างตามแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระเกศมาลาหรือยอดแหลมที่พระเศียร เป็นรูปดอกบัวตูม พระพุทธคันธารราฐแบบจีนมหายานมีพระหัตถ์ขวาถือช้อนพระหัตถ์ข้างซ้ายถือถ้วยน้ำ ทั้ง 2 องค์นี้สร้างจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 1 ยังมีพระคันธารราฐตามพุทธลักษณะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 คือพระ เกศมาลาไม่เป็น 2 ชั้น พระเศียรกลมเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ครองจีวรตามแบบพระสงฆ์ธรรมนิติกรรม และพระคันธารราฐในสมัยรัชกาลที่ 5 หล่อด้วยทองคำปั้นตามแบบศิลปะตะวันตก
2.พระพรหม ชาวไทยที่รับคติความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้ลิขิต ชะตาชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกว่า "พรหมลิขิต" และผู้ใดที่บูชาพระพรหมอยู่เป็นนิจ พระองค์จะประทานพรให้สมหวัง เรียกว่า "พรพรหม" หรือ "พรหมพร" และยังเป็นเทพประจำทิศเบื้องบนอีกด้วย
3.ศาลตายาย มีความเชื่อว่ามีไว้ช่วยปกปักรักษาบ้านเรือนให้ปลอดภัยจากภยันตรายอยู่เสมอ ด้วยความเชื่อที่ว่าเพื่ออัญเชิญวิญญาณเจ้าที่เจ้าทางที่เป็นเจ้าของดั้งเดิม หรือมีความผูกพันกับพื้นที่มาช่วยปกป้องดูแลบ้านเรือน ซึ่งตามความเชื่อแบ่งเป็นเจ้าที่แท้ ที่เป็นวิญญาณของเจ้าของแผ่นดินดั้งเดิม หรือบรรพบุรุษในแผ่นดินนั้นที่มีความรักมีความผูกพันและหวงแหนที่ดินเดิมจนไม่ยอมไปเกิดใหม่ จึงคอยปกปักรักษาพื้นที่ของตนเอง การเคารพไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นการสืบทอดประเพณีมาแต่โบราณเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กระทำกิจการใดๆประสบแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล
  อย่างไรก็ตามชาวฝนหลวงทุกคนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในใจเสมอมานั่นคือคำสั่งสอนของพระบิดาแห่งฝนหลวงที่พวกเราได้น้อมนำมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ทันตาเห็นดั่งอิทธิฤทธิ์ของสิ่งศักดิ์ที่แสดงให้เห็นทันทีทุกครั้งที่ชาวฝนหลวงลงมือกระทำให้ฝนตกลงสู่ผืนนาของพี่น้องประชาชนนั่นเอง
#พรที่ดีเกิดจากการกระทำที่ดี
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

ภาพและวีดีโอ