เปลี่ยนการแสดงผล
#ช้างเผือกประจำภูมิภาค 11
27 กรกฎาคม 2563 250 ครั้ง

#ช้างเผือกประจำภูมิภาค11

ภาคตะวันออกได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลไม้แหล่งสำคัญของประเทศด้วยสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่มีความเหมาะสม ปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีเกือบ 2,000 มิลลิเมตร แต่บางพื้นที่ในภาคตะวันออกค่อนข้างแห้งแล้งจึงเหมาะแก่การปลูกพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อยเท่านั้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน พื้นที่ภาคตะวันออกยังมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งซึ่งมีความต้องการใช้น้ำจำนวนมาก ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกในบางช่วงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ถึงแม้จะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง จำนวนหลายแห่งก็ตาม โครงการพระราชดำริฝนหลวงจึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตรไม่เพียงพอ และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆที่มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคและการอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปี

การปฏิบัติการฝนหลวงให้สัมฤทธิ์ผลตามความต้องการของพื้นที่นั้น ข้อมูลเชิงพื้นที่จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะได้จากพี่น้องอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพี่น้องเกษตรกรประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงอย่างใกล้ชิด

นายสำเรียน จันทร์น้อย เกษตรกร ต.บ่อกวางทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดเข้าร่วมรับการอบรมหลักสูตรอาสาสมัครฝนหลวงปี2558 ด้วยบุคลิกที่เป็นคนใจเย็น อ่อนน้อม ถ่อมตน อะลุ่มอะล่วย ของพี่สำเรียน จึงได้รับฉายาว่าเป็นมือประสานสิบทิศของชาว อ.บ่อทอง พี่สำเรียนได้นำองค์ความรู้จากหลักสูตรอาสาสมัครฝนหลวงมาเผยแพร่สู่พี่น้องเกษตรกรชาวอ.บ่อทอง และด้วยความเป็นผู้นำและผู้ประสานที่ดีพี่สำเรียนจึงได้ชักชวนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกันเป็นสมาชิกอาสาสมัครฝนหลวงฝนรวม 43 รายกระจายอยู่ทั่วอ.บ่อทอง

การมีอาสาสมัครฝนหลวงกระจายอยู่ในพื้นที่จำนวนมากจะทำให้ได้ข้อมูลเชิงพื้นที่มีความละเอียดมากขึ้น ทำให้การปฏิบัติการฝนหลวงสอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นการพัฒนาสมาชิกอาสาสมัครฝนหลวงตามแนวทางของพี่สำเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พี่สำเรียนได้นำเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียในรูปแบบแอปพลิเคชั่นไลน์ เฟซบุ้ค มาใช้ในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้กับเพื่อนสมาชิกได้ทราบข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงในเฟซบุ้ค ชื่อว่า "นายสำเรียน จันทร์น้อย" และกลุ่มไลน์จำนวน 10 กลุ่ม ตลอดจนการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเพื่อแจ้งข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายวัน ความต้องการน้ำในพื้นที่ และการเก็บตัวอย่างน้ำฝนเพื่อส่งให้กรมฝนหลวงฯใช้ในการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝนอีกด้วย

พี่สำเรียนยังเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ใช้บ้านของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ และละแวกใกล้เคียงได้เพิ่มพูนความรู้ทางด้านการเกษตร และยังคอยขับเคลื่อนการรณรงค์การปลูกป่า ปลูกต้นไม้ยืนต้นเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ และความร่มเย็นอีกด้วย

จากการดำเนินการด้วยความเป็นจิตอาสาของพี่สำเรียนในการช่วยเหลือต่อสังคมทำให้พี่สำเรียนเป็นที่ยอมรับของพี่น้องอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออก จนกระทั่งในปี 2562 กรมฝนหลวงฯ จึงได้คัดเลือกพี่สำเรียน เป็นอาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นแห่งภาคตะวันออก นับว่าพี่สำเรียนเป็นอีกหนึ่งช้างเผือกแห่งพื้นที่ภาคตะวันออกในวงการอาสาสมัครฝนหลวงของพวกเรา

#จิตอาสามักมีจิตใจกว้างขวางจิตทรามมักมีจิตใจแคบ
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"




ภาพและวีดีโอ