เปลี่ยนการแสดงผล
#ในวันที่ฝนพรำ
3 สิงหาคม 2563 237 ครั้ง
วันนี้หลายๆ พื้นที่คงชุ่มฉ่ำกันไป มากบ้างน้อยบ้าง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือ รอยต่อระหว่างดินแดนไทย-ลาว-เวียดนาม เหตุจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ซินลากู” ชื่อของเทพธิดาจากตำนานพื้นเมืองของชาวเกาะคอสไร เสนอชื่อโดยโมโครนีเซีย
การตั้งชื่อพายุจะเกิดขึ้นเมื่อพายุพัฒนาตัวจนมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ตั้งแต่ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ในสมัยก่อนอเมริกาจะเป็นผู้รับสัมปทานผูกขาดการตั้งชื่อแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากมีปัจจัยความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่ดี ชื่อที่นิยมใช้ ในสมัยก่อน คือ ชื่อผู้หญิง เนื่องจากช่วยให้ฟังแล้วดูรุนแรงน้อยลง ซึ่งภายหลังก็มีการประท้วงว่าการนำชื่อผู้หญิงมาตั้งชื่อพายุทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงดูโหดร้าย จึงได้มีสลับใช้ชื่อผู้ชายบ้าง
ส่วนในปัจจุบันนั้น การตั้งชื่อพายุได้มีการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ เสนอชื่อพายุได้ โดยกำหนดกติกา คือ ให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศ และเสนอได้ประเทศละ 10 ชื่อ สำหรับการเลือกชื่อไปใช้ จะเรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อประเทศผู้เสนอ เมื่อครบทั้งหมดแล้วจะวนกลับไปที่ประเทศแรกใหม่ รู้หรือไม่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ที่ไทยของเราสังกัด ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 14 ประเทศ โดยไทยเราอยู่ลำดับที่ 12 ประเทศแรก คือ กัมพูชา และสุดท้าย คือ เวียดนาม
สำหรับเราชาวฝนหลวง คงได้แต่เฝ้ามองติดตามความเป็นไปของสภาพอากาศ เนื่องจากสภาพอากาศที่ปิด ไม่เหมาะสมสำหรับการบิน ทำให้นึกเปรียบพายุกับความงามของสตรี ดวงตาสิ่งหนึ่งที่ทรงเสน่ห์ หากนางใดมีดวงตาชวนหลงใหล ชายใดได้มองดั่งต้องมนต์สะกดเชียว บริเวณศูนย์กลางของพายุลักษณะเป็นวงกลมมักเรียกส่วนนี้ว่า ตาพายุ
ถ้าหากยิ่งสวยงามกลมกลึงเท่าไหร่ยิ่งรุนแรงเชียวละคุณ นอกจากนั้นต้องสังเกตบริเวณขอบตาของนวลนางให้ดี เพราะนั่นคือ บริเวณที่รุนแรงที่สุดของพายุ ฟ้าฝนลมแรงที่สุด และถ้าหากกล่าวถึงสถานที่ยอดนิยมที่มักพบสาวงามในชุดพริ้วไหว เดินทอดน่องไปตามชายหาด น้องพายุก็เช่นกันชอบทะเลมากเป็นที่สุด เนื่องจากเป็นแหล่งความชื้นหล่อเลี้ยงพายุ จะสังเกตได้ว่าเมื่อไหร่ที่ขึ้นฝั่งแล้วก็จะเซ็งๆ เบื่อๆ และสลายตัวไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามเมื่อพายุลูกนี้ผ่านพ้นไป คงช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ พื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนา ก็คงได้น้ำขังในกระทงนาในระดับหนึ่ง บรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งไปได้บ้าง แต่ถ้าหากยังไม่มากพอหรือไม่ทั่วถึง พวกเราเหล่านักล่าเมฆพร้อมออกปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ สืบสานพระราชปณิธานโครงการพระราชดำริฝนหลวง
สุดท้ายนี้อย่าหลงใหลในมนต์สเน่ห์ความงามจนลืมเตรียมความพร้อมรับมือ ติดตามข้อมูลข่าวสารประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รักษาสุขภาพ ทรัพย์สิน และพบกันใหม่
เขียนโดย "ละอองเมฆ"
ขอขอบคุณภาพจากกรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพและวีดีโอ