เปลี่ยนการแสดงผล
#น้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นในแดนอิเหนา
10 สิงหาคม 2563 112 ครั้ง

#น้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นในแดนอิเหนา
  “COVID-19!!!” เป็นชื่อที่สร้างความหวาดกลัวไปทั่วโลก เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว เป็น "การระบาดใหญ่" หรือ pandemic ที่ลุกลามไปอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคของโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกแล้วกว่า 19 ล้านราย คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 7 แสนชีวิต ยังสร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
  ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันและแพร่ระบาดระยะที่ 5 ได้แล้ว โดยไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มภายในประเทศแล้วกว่า 70 วัน และยังได้รับคำชื่นชมจากทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และนานาประเทศว่า เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับประเทศที่สามารถคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ได้ดี (ขอเสียงปรบมือรัวๆ  ให้กับคนไทยที่ให้ความร่วมมือกันอย่างดี)  วิกฤติครั้งนี้เปรียบเสมือนสงครามที่มนุษย์ต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น เช่นเดียวกับภัยธรรมชาติที่ยากต่อการควบคุม ภัยแล้งเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คุกคามไปทุกหนแห่งของโลกโดยไม่เลือกแผ่นดิน และถิ่นทวีป ดั่งโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในปัจจุบัน
ยังมีดินแดนแห่งหนึ่ง เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน ได้รับอิทธิพลจากทะเลเต็มที่ จึงทำให้มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี แต่กลับไม่แคล้วคลาดจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายแห่งของประเทศ ใช่แล้ว ที่นี่!! ดินแดนอิเหนา หรือ ประเทศอินโดนีเซีย นั่นเอง
  เรื่องราวในประวัติศาสตร์ ได้รับการจดบันทึกไว้ว่า จากความสำเร็จของโครงการฝนหลวงในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในประเทศไทย และการประมวลผลสัมฤทธิ์จากการทดลองปฏิบัติการทำฝนจนพัฒนาเป็น 3 ขั้นตอน
โดยพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.9 ในปี พ.ศ. 2516 ทำให้มีการกล่าวขานกันไปทั่วแถบภูมิภาคอาเซียน และหลายประเทศสนใจเดินทางมาขอศึกษาเล่าเรียนวิชาการทำฝนจากพี่ไทยใจดีแดนสยามเมืองยิ้ม
ด้วยพระเมตตาของพ่อหลวง ร.9 อันเปี่ยมล้นและไร้ขอบเขตแห่งพรมแดน... ทีมนักวิชาการชาวอิเหนาไม่รีรอ ขอมาศึกษาแบบอย่างการทำฝนของไทยในปี 2519 และนำเทคนิคที่ง่ายต่อการเข้าใจนี้  ไปทดลองใช้ในประเทศของตนอย่างทันที เพราะความเดือดร้อนของประชาชน ไม่สามารถรอช้าได้ ด้วยความสัมพันธ์และมิตรภาพฉันท์ พี่น้อง พร้อมความเข้าใจในความทุกข์ร้อนดังกล่าวอย่างดี...ทีมนักล่าเมฆแดนสยาม ยังไปช่วยร่วมสู้รบปราบภัยแล้งเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีมรบทำฝนอิเหนาอีกด้วย ชาวอิเหนาช่างโชคดีนัก ที่พ่อหลวง ร.9 ทรงมีพระเมตตามอบหมายให้แม่ทัพมือฉมังอย่างหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้ทรงสนองโครงการรพระราชดำริฝนหลวง ที่ได้ค้นคว้าและทดลองการทำฝนจนประสบผลสำเร็จ ไปร่วมภารกิจหลาย ๆ ครั้ง 
เมื่อความสำเร็จในการนำสายฝนให้โปรยปรายอย่างชุ่มฉ่ำประจักษ์สายตาแก่คนทั้งประเทศ ประกอบกับทีมรบทำฝนอิเหนามีความความเชื่อมั่นในเทคนิคกรรมวิธี พร้อมมีความสามารถและมั่นใจในฝีมือตนเองแล้ว จึงได้จัดตั้งหน่วยงานทำฝน ที่มีชื่อย่อว่า  BPPT (ออกสียงแบบภาษาท้องถิ่นว่า เบเปเปเต) ในปี พ.ศ. 2528  พวกเขาสามารถทำฝนตามแบบฉบับพี่ไทยและพึ่งตนเองได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ทีมรบทำฝนอิเหนา ยังไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาและต่อยอดการทำฝน พวกเขาคิดค้นนวัตกรรมไปตามยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้าและเปลี่ยนไป...แล้วจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง เอาไว้มาติดตามตอนต่อไปในเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนกันน้า
เขียนโดย "รุ้งทอแสง"
#หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษยชาติด้วยสายธารแห่งพระเมตตา
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

ภาพและวีดีโอ