เปลี่ยนการแสดงผล
#เปลี่ยนที่แต่ไม่ได้เปลี่ยนใจ
25 สิงหาคม 2563 216 ครั้ง
เชียงใหม่ดินแดนแห่งความปรารถนาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ...
หากถามใครว่าอยากไปเที่ยวเชียงใหม่หรือไม่ คิดว่าคนจำนวนมากกว่า 90 % ขึ้นไปต้องมีความใฝ่ฝันอยากไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างแน่นอน...
ด้วยความขึ้นชื่อในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีล้านนาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ศิลปะวัดวาอารามอันอ่อนช้อยวิจิตรสวยงาม ธรรมชาติภูเขา ลำธาร ดอยต่างๆ น้ำตก ล้วนแต่สวยงาม แถมยังมีสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวที่เต็มไปด้วยดอกไม้เมืองหนาวอันสวยงาม อีกทั้งอาหารอร่อยในแบบฉบับเมืองเหนือ และที่สำคัญคือความสุภาพอ่อนหวานด้วยภาษาคำเมืองของเจ้าของบ้านจึงเป็นเสน่ห์มนต์ขลังต่อผู้มาเยือน
การคมนาคมสู่เชียงใหม่ก็สะดวกสบาย สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน ซึ่งมีสนามบินนานาชาติทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศหลั่งไหลไปท่องเที่ยวกันมากมายจนการจรจรทางอากาศค่อนข้างที่จะแออัดด้วยเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างมาก
ด้วยการที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะไม้ผลอย่างลิ้นจี่ ลำใย น้ำจึงเป็นความจำเป็นอย่างมากสำหรับพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่
หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำจึงได้มีการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือเพราะด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม เพื่อเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงประชาชนทั้งในเมืองเชียงใหม่ ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ และบางเขื่อนยังได้มีหน้าที่หล่อเลี้ยงประชาชนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาอีกด้วย เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ฯลฯ แต่แหล่งน้ำเหล่านี้ในบางปีก็มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือขึ้นโดยมีที่ทำการตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อดูแลพื้นที่การเกษตรของ 7 จังหวัดภาคเหนือได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก
แม่ฮ่องสอน พะเยา ลําปาง และลำพูน อีกทั้งการดูแลเพื่อเติมน้ำให้ 6 เขื่อนขนาดใหญ่ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแม่มอก ตลอดจนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กในพื้นที่ 7 จังหวัดดังกล่าวอีกด้วย
ตามที่ทราบกันดีว่าการทำฝนหลวงนั้นต้องอาศัยสภาพอากาศตามธรรมชาติเป็นตัวตั้ง สำหรับการปฏิบัติใน 3 ขั้นตอนคือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี ในขณะที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การทำงานกับสภาพอากาศจึงต้องแข่งกับเวลา แต่ด้วยสภาพการจราจรทางอากาศที่ค่อนข้างหนาแน่นมาก บางครั้งทำให้เราพลาดโอกาสในการขึ้นทำฝนไป เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินตามเวลาที่เหมาะสม
กรมฝนหลวงฯจึงได้พิจารณาการตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาคเหนือขึ้นใหม่ที่จ.ตาก โดยได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่จากกรมธนารักษ์จำนวน 109 ไร่เศษ เพื่อการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.ตาก ศูนย์ถ่ายทอดการบินดัดแปรสภาพอากาศ พิพิธภัณฑ์การบินเกษตร และศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ในบริเวณสนามบินตาก ซึ่งจะทำให้สามารถขึ้นบินทำฝนได้ตามเวลาที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 เวลา 09.19 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.ตากแห่งนี้
พิธีวางศิลาฤกษ์นั้นประกอบไปด้วยพิธีกรรมทั้ง
ทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์เพื่อทำการวางแผ่นศิลาจารึกดวงฤกษ์ที่คำนวณว่าเป็นฤกษ์ดีที่สุดในระยะนั้น
โดยพิธีพราหมณ์จะเป็นการทำพิธีบูชาฤกษ์และวางศิลาฤกษ์ ส่วนพิธีสงฆ์จะทำการสวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับเครื่องวางศิลาฤกษ์นั้นประกอบไปด้วย แผ่นศิลาฤกษ์ ไม้เข็มมงคล 9 ต้น ทรายเสก น้ำพระพุทธมนต์ ทองคำเปลว อิฐทอง - นาก - เงิน อย่างละ 3 ก้อน ตลับนพรัตน์ ทอง นาก เงิน ข้าวตอก ดอกไม้ เมล็ดถั่วงาดำ และค้อน เกรียง ปูนซิเมนต์ผสมเสร็จแล้ว
การตอกไม้เข็มมงคล 9 ต้น 9 ชนิดมีความหมายดังนี้
1. ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคลาภ วาสนาที่ดี
2. ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง การมีบุญวาสนา จะได้เป็นใหญ่เป็นโต มีคนเคารพ ยกย่อง นับถือ
3. ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีเงินทองอุดมสมบรูณ์
4. ไม้ไผ่ศรีสุก หมายถึง จะมีความสุขกาย สุขใจ
5. ไม้กันเกรา หมายถึง จะมีเครื่องคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ
6. ไม้ทรงบาดาล หมายถึง การดลบันดาลให้สิ่งดี ๆ บังเกิดขึ้น
7. ไม้สักทอง หมายถึง การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้มั่นคงตลอดไป
8. ไม้พยุง หมายถึง การพยุงฐานะให้มั่นคง
9. ไม้ขนุน หมายถึง จะได้รับการอุดหนุนจุนเจือที่ดี
การจัดพิธีวางศิลาฤกษ์เสร็จสิ้นลุล่วงไปด้วยดีท่ามกลางบรรยากาศแห่งความร่มเย็นครึ้มฝนเล็กน้อยแดดอ่อน อากาศเย็นสบาย ถือว่าเป็นฤกษ์ที่ดี เป็นฤกษ์อันเป็นมงคลไร้ปัญหาอุปสรรค ทำให้พวกเราชาวกรมฝนหลวงฯ รู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.ตาก ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อจะได้ใช้สถานที่แห่งนี้นำพาความร่มเย็นด้วยสายฝนจากน้ำพระราชหฤทัยแห่งองค์พระบิดาฝนหลวงสู่พี่น้องปวงชนชาวไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและฝั่งตะวันตกสืบไป
เขียนโดย "หลงเมฆ"
ภาพและวีดีโอ