เปลี่ยนการแสดงผล
#คนหลังเขา
30 สิงหาคม 2563 2,191 ครั้ง

#คนหลังเขา
เมื่อได้ยินว่า"คนหลังเขา"เราจะนึกถึงอะไรกันบ้าง? 
แต่ละคนคงนึกถึงประสบการณ์ที่ตนเองเคยพบเจอมาแน่นอน อาจจะนึกถึงสิ่งเหล่านี้
นึกถึงการเดินทางที่ยากลำบาก
นึกถึงการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ยากลำบาก
นึกถึงการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ยังไม่เท่าเทียม
นึกถึงคำด่าเปรียบเทียบคนที่ล้าสมัย
นึกถึงจุดบอดของคลื่นสัญญาณโทรศัพท์
นึกถึงความยากจน
นึกถึงความอดทนของคน
นึกถึงพื้นที่เงาฝน
นึกถึงความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ
จะเห็นว่าเมื่อพูดถึงคนหลังเขามักจะนึกถึงจุดอ่อนที่มีต่อพี่น้องที่อาศัยอยู่หลังเขามากกว่าจุดแข็งที่มี
วันนี้ลองมาฟังเหตุผลกันว่าทำไมพื้นที่หลังเขาจึงประสบปัญหาเป็นพื้นที่เงาฝน แล้วเราจะมีวิธีช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง???
ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยระหว่างกลางเดีอนพฤษภาคมถึง กลางเดือนตุลาคม มรสุมนี้จะนำมวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดีย มาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุกทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณชายฝั่งทะเล และเทือกเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น
ส่วนพื้นที่ด้านหลังเขาจะได้รับฝนน้อยกว่าพื้นที่อื่น ได้แก่พื้นที่บริเวณตอนกลางของภาคเหนือและภาคกลาง และบริเวณด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นหากมีอาชีพทำการเกษตรจะประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เนืองๆ
กรมฝนหลวงฯมักจะได้รับเรื่องการร้องขอฝนในพื้นที่นี้เป็นประจำทุกปี แต่การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหล่านี้ค่อนข้างยากด้วยอุปสรรคในการบิน ห้ามบินล้ำน่านฟ้า เพื่อจะทำการก่อเมฆให้มาตกมาเป็นฝนในบริเวณพื้นที่หลังเขาเหล่านี้
อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่หลังเขาและเป็นเขตเงาฝนของบ้านเรา โดยมีดอยอินทนนท์กั้นทางด้านทิศตะวันตก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาความชื้นจากมหาสมุทรอินเดียเกิดการปะทะดอยอินทนนท์ทำให้กลุ่มเมฆด้านหน้าดอยอินทนนท์ตกเป็นฝนจำนวนมาก 
ลักษณะดังกล่าวกลุ่มเมฆที่เหลือจากฝนตกด้านหน้าเขาสูญเสียไอน้ำไป ทำให้สภาพอากาศจะจมตัวลงจนอุณหภูมิสูงขึ้น บริเวณหลังภูเขาจึงเป็นเขตที่แห้งแล้ง เรียกว่า “เขตเงาฝน” (Rain shadow) ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่อำเภอดอยหล่อเรื่อยมา ทำให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ต้องร่วมกันสูบน้ำจากแม่น้ำปิงเป็นระยะทางไกลกว่า 10 กิโลเมตร มาเก็บไว้ในสระส่วนกลางแล้วแบ่งรอบเวรในการสูบน้ำจากสระส่วนกลางนี้ไปใช้
อย่างไรก็ตามทุกอย่างในร้ายย่อมมีดีแต่เราต้องพยายามหาให้เจอ...
ดอยอินทนนท์เป็นดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงถึง 2,565 เมตร หรือ 8,415 ฟุต ความสูงระดับฐานเมฆเลยทีเดียว กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ ขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) เพื่อดำเนินการ "โครงการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย" 
เทคนิคการทำฝนโดยการเผาสารจากภาคพื้นนั้นมีการดำเนินในหลายประเทศเช่น จีน มองโกเลีย อินโดนีเซีย ฯลฯ แต่จีนและมองโกเลียสารที่นำมาใช้คือซิลเวอร์ไอโอไดด์ซึ่งจะเหมาะกับสภาพเมฆเย็นซึ่งมีอยู่เป็นส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้น
ส่วนอินโดนีเซียจะเป็นสารแคลเซียมคลอไรด์เนื่องจากต้องการทำฝนในลักษณะเมฆอุ่น ทั้งนี้จะต้องทำการติดตั้งอุปกรณ์ในการเผาสารจากภาคพื้น ณ บริเวณพื้นที่สูงเช่น ภูเขาเท่านั้น เพื่อให้สารที่ถูกเผากลายเป็นควันสามารถลอยเข้าไปในเมฆได้
สำหรับการดำเนินการวิจัยทดลองโครงการดังกล่าวของบ้านเราจะเริ่มทำการติดตั้งอุปกรณ์พ่นสารจากภาคพื้นสู่ก้อนเมฆพร้อมระบบจุดพลุสารดูดความชื้น (hygroscopic flare)บรรจุแคลเซียมคลอไรด์ ณ บริเวณดอยผาน้อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่มีระดับความสูง 1,490 เมตรหรือ 4,800 ฟุต ซึ่งถือว่าสูงเพียงพอที่จะทำให้ควันที่เกิดจากการเผาสารแคลเซียมคลอไรด์เข้าไปในเมฆได้เพื่อช่วยให้เมฆพัฒนาตัวเร็วขึ้นและตกเป็นฝนบริเวณพื้นที่อำเภอดอยหล่อ
กำหนดการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศช่วงกลางเดือนกันยายน 2563 และจะสามารถทดลองปฏิบัติการได้ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 หวังว่าความสำเร็จในงานวิจัยครั้งนี้จะช่วยเหลือพี่น้องชาวอำเภอดอยหล่อให้มีฝนมากขึ้น มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น
นับว่าเป็นการร่วมดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการพระราชดำริฝนหลวงเพื่อสร้างความร่มเย็นแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วแดนไทยด้วยสายฝนจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบิดาแห่งฝนหลวง...
เขียนโดย "หลงเมฆ"
#ไม่ลองไม่รู้แต่ก่อนจะลองต้องรู้
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

ภาพและวีดีโอ