เปลี่ยนการแสดงผล
#ตั้งสติรับมือสารพันภัย
9 กันยายน 2563 184 ครั้ง

#ตั้งสติรับมือสารพันภัย
ภัยพิบัติมีมาแต่ยุคอดีตดึกดำบรรพ์ แต่ภัยพิบัติในอดีตนั้นล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ภัยหนาว อุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่า อุกกาบาต ฯลฯ หากสิ่งมีชีวิตในอดีตไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ย่อมทำให้เกิดการสูญพันธ์ุ อาทิ ไดโนเสาร์
แต่สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ดังตัวอย่างเช่น แมลงสาบ ที่นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้ถือกำเนิดมาบนโลกนี้ยาวนานกว่ามนุษย์หลายเท่า (ราว 250 ล้านปีมาแล้ว)โดยการยืนยันจากการศึกษาซากฟอสซิลที่ถูกค้นพบ
แมลงสาบสามารถปรับตัวได้กับทุกสภาพแวดล้อม เนื่องจากการที่แมลงสาบกินทุกอย่างเป็นอาหาร บางสายพันธุ์สามารถกินไม้ได้ด้วย แมลงสาบจะปรากฏตัวให้เห็นอยู่ในประเทศที่เป็นเขตเมืองร้อน แมลงสาบในประเทศไทยจะอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน แหล่งของเสีย แมลงสาบจึงเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค และเป็นที่น่ารังเกียจของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะสาวๆเพราะด้วยความรู้สึกว่าสกปรกและลักษณะรูปร่างที่น่ารังเกียจแถมบินได้อีกด้วย อาจจะบินมาเกาะหัว หลัง หรือคอ นึกแล้วอาจจะขนลุก
ส่วนภัยในปัจจุบันแยกได้เป็น 2 ประเภทคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบันและบางภัยพิบัติอาจจะทวีความถี่และความรุนแรงขึ้นเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น
ส่วนภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นั้นก็มีมากมายเช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากรถยนต์ต่างๆเป็นจำนวนมากจนส่งผลให้โลกร้อนขึ้น(global warming)ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและท่วมพื้นที่ในระดับต่ำ และเกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล บางพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง บางพื้นที่เกิดอุทกภัย และภัยเหล่านี้ค่อนข้างที่จะรุนแรงสุดโต่งมากขึ้นในหลายพื้นที่
วันนี้ขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักเจ้าก๊าซตัวร้ายเหล่านี้มากขึ้นเพื่อจะได้ช่วยกันลดภาวะเรือนกระจกลง สิ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ส่วนหนึ่งคือการสร้างโลกสีเขียวด้วยการช่วยกันปลูกต้นไม้ และการลดการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตและปล่อยก๊าซเหล่านี้ออกมา
ก๊าซเหล่านี้ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์  (N2O), ซีเอฟซี (CFCs), ไฮโดรฟลูโรคาร์บอนคาร์บอน (HFCs), เพอร์ฟลูโรคาร์บอน  (PFCs) และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออร์ไรด์ (SF6)
ในปัจจุบันยังมีภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์อื่นๆอีกมากมาย เช่น การสูบน้ำใต้ดินปริมาณมากจนส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน การตัดไม้ทำลายป่าจนเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มได้ง่าย รวมถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน ซึ่งส่งผลต่อชั้นหินใต้เปลือกโลก โดยอาจมีผลกระทบต่อโลกในระยะยาว และภัยพิบัติอื่นๆอีกมากมายที่จะตามมาในรูปแบบต่างๆที่เรายังอาจคาดไม่ถึงอย่างภัยก่อการร้ายทางอาวุธชีวภาพ...
โลกเราเกิดมาแล้ว 4,500 ล้านปี มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมายทั้งสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศ ทั้งเกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ดังที่กล่าวแล้ว และยังคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นถ้าหากพวกเรายังไม่ร่วมมือกันที่จะป้องกันและแก้ไข เช่น การเกิดสภาวะภัยแล้งขึ้นอย่างต่อเนื่องในบ้านเรา ทั้งในพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยจำนวนมากโดยเฉพาะในปี 2563 
ณ วันที่ 8 กันยายน 2563 แหล่งน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30 % ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีปริมาณน้ำน้อยต้องเฝ้าระวังรวมจำนวน 23 แห่งโดยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 10 แห่ง ภาคกลางจำนวน 6 แห่ง ภาคตะวันออกจำนวน 2 แห่ง และภาคใต้จำนวน 2 แห่ง ส่วนแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30 % รวมจำนวน 146 แห่งโดยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 34 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 81 แห่ง ภาคกลางจำนวน 14 แห่ง ภาคตะวันออกจำนวน 15 แห่ง และภาคใต้จำนวน 2 แห่ง ทั้งๆที่เหลือระยะเวลาฤดูฝนอีกเพียงเดือนเศษๆ
ในขณะที่พื้นที่การเกษตรในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นาหรือพืชไร่ทั้งข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง
ยังประสบปัญหาปริมาณฝนยังไม่เพียงพอและกำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มแตกกอของข้าว และการออกดอกของข้าวโพดซึ่งต้องการปริมาณน้ำอย่างเพียงพอเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับเหล่าทัพ ทั้งกองทัพอากาศและกองทัพบกระดมสรรพกำลังเพื่อช่วยปฏิบัติการฝนหลวงในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ทั้งพื้นที่การเกษตรและการเติมน้ำให้เขื่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ(climate change) ที่เกิดขึ้นนทั่วโลก พวกเราทุกคนคงต้องร่วมกันปรับตัว ปรับวิถีชีวิต ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น การช่วยกันสร้างแหล่งน้ำสำรองเพื่อบริหารความเสี่ยงในช่วงที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ฝนแล้ง หรือฤดูแล้งที่จะมาถึง เพื่อความอยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้เหมือนดั่งแมลงสาบที่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมจึงอยู่รอดมาเป็นเวลาล้านๆปี
พวกเราต้องรอดไปด้วยกันเพราะพวกเราล้วนเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมีและใช้ไตรรงค์ผืนเดียวกัน...
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#รับรู้อย่างมีสติเพื่อความอยู่รอดดีกว่าจมปรัก
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด


ภาพและวีดีโอ