เปลี่ยนการแสดงผล
#จากความเชื่อสู่ความเชื่อมั่น
11 กันยายน 2563 339 ครั้ง

#จากความเชื่อสู่ความเชื่อมั่น
“ความเชื่อ” อยู่คู่กับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณที่มีความเจริญทางด้านวิชาการน้อย โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ว่าเป็นการบันดาลให้เกิดขึ้นจากอำนาจของเทวดา พระเจ้า หรือภูตผีปีศาจ ที่ควบคุมไม่ได้และมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ มนุษย์จึงพยายามคิดหาวิธีการที่จะป้องกันสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นพิธีกรรมขึ้น
ชาวญี่ปุ่นใช้ตุ๊กตาไล่ฝนที่เรารู้จักจากการ์ตูนอิคคิวซังห้อยตามชายคาบ้าน ถัดมาประเทศใกล้เคียงอย่างจีนนับถือเทพเซ่าฉิงเหนียงหรือหญิงสาวที่ถือไม้กวาดสำหรับโบกพัดเมฆฝนออกไป ข้ามฝั่งไปยุโรปอย่างสาธารณรัฐเช็ก
มีการเผาหุ่นแม่มดเพื่อหยุดอาเพศจากฝนฟ้า เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็นับถือบูชาพระวรุณ ส่วนในไทย ยึดถือประเพณีแห่นางแมวเพื่อขอฝน หรือมีความเชื่อว่ากบร้องขอฝน ถ้าไม่มีความชื้นกบก็จะตาย
“ความเชื่อ” กลายเป็น “ความเชื่อมั่น”  เมื่อความรู้วิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ มีก้าวหน้ามากขึ้น ความเชื่อมั่นในการทำให้ฝนตกและไม่ตก สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้จากการศึกษาวิทยาศาสตร์บรรยากาศ และอุตุนิยมวิทยา ด้วยการกำหนดเป็นข้อสมมติฐานในการค้นคว้าและทดลองปฏิบัติการตามขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ จนสามารถพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการทำฝนหรือเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แม้จะค้นพบหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างฝน แต่การพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศยังคงต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพราะศาสตร์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ต้องใช้ความรู้หลายสาขาวิชาประกอบกัน ทั้งฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนความท้าทายจากการผันแปรของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเมฆ และการเกิดฝน ซึ่งเป็นภารกิจที่หน่วยงานด้านการทำฝนทั่วโลกต่างมุ่งหวังด้วยความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเอาชนะและสร้างวิทยาการการทำฝนให้ก้าวหน้าไปอีกยุคหนึ่ง
ประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียหลายประเทศ มีหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการดัดแปรสภาพอากาศของตนเอง โดยแต่ละประเทศมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน เช่น ความพร้อมของอุปกรณ์ที่ทันสมัย แบบจำลองของเมฆและการเกิดฝน ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เทคนิคการทำฝนทางเลือก ซึ่งหากสามารถนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาต่อยอดพัฒนาการปฏิบัติงานวิจัยร่วมกัน ความเชื่อมั่นและความหวังในการเอาชนะความท้าทายดังกล่าวย่อมใกล้ความเป็นจริง
กรมฝนหลวงฯ ได้เล็งเห็นกลยุทธ์ดังกล่าว และจำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานวิจัย ซึ่งต้องมีความรู้และความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเมฆฟิสิกส์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และกระบวนการเกิดฝน จึงได้จัดโครงการฝึกอบรม “ASEAN Training On Weather Modification 2019” โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกอาเซียน และคู่ภาคีความร่วมมือ ได้แก่ เกาหลีใต้ มองโกเลีย และศรีลังกา เข้าร่วม เพื่อเป็นเครือข่ายการดำเนินการวิจัยและพัฒนา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติงาน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก องค์การอุตุนิยมวิทยาจีน และหน่วยงานภายในประเทศที่มีความร่วมมือกับกรมฝนหลวงฯ ต่างให้เกียรติมาถ่ายทอดศาสตร์วิชาและวิทยาการที่ตน
ได้สั่งสมประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการวิจัย องค์ความรู้ด้านเมฆฟิสิกส์ การวิเคราะห์ข้อมูลเมฆฟิสิกส์ และแบบจำลองการเกิดเมฆ นอกจากหัวข้อที่น่าสนใจ ความทุ่มเทและตั้งใจในการแบ่งปันองค์ความรู้ยังสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังเป็นอย่างมาก
การบรรยายเป็นไปอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 5 วัน ซึ่งถือเป็นเวลาอันสั้นสำหรับศาสตร์แห่งการทำฝน ทุกคนต่างใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า ภาพที่วิทยากรถูกห้อมล้อมด้วยผู้เข้าร่วมอบรมระหว่างเวลาทานอาหารและพักเบรคมักปรากฎให้เห็นเสมอ โดยระหว่างตอบคำถามและหารือกันไปพลาง ยังมีผลไม้ไทยอันโอชะให้ได้ลิ้มรสกันไปอย่างเพลิดตาเพลินใจ จนหลายคนชื่มชมและหลงใหลความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยไปตามๆ กัน
ผลสำเร็จจากโครงการนำมาซึ่งแนวคิดที่จะร่วมกันต่อยอดพัฒนา เช่น การใช้พลุสารดูดความชื้น ขนาดอนุภาคสารที่เหมาะสมสำหรับการทำฝนเมฆอุ่น การตรวจวัดกระบวนการเกิดเมฆและฝนด้วยเครื่องมือตรวจวัดเมฆฟิสิกส์ การพัฒนาสารฝนหลวงทางเลือก การพัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อจำแนกกลุ่มเมฆที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวง เทคนิคการทำฝนเพื่อลดปริมาณฝน และยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ รวมทั้งเทคโนโลยีทางเลือก เช่น จรวด และ ground-based generator เป็นต้น
การพัฒนางานวิจัยด้านฝนหลวงที่ผ่านมาได้ดำเนินการควบคู่กับการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มการทดลองทำฝนครั้งแรกในปีพ.ศ. 2512 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยพระบิดาแห่งฝนหลวง ได้ทรงพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคแก่นักวิชาการฝนหลวง และพระราชทานขวัญกำลังใจให้เกิดความเชื่อมั่นในการค้นคว้าทดลองเรื่อยมา อีกทั้งทรงเน้นถึงความร่วมมือประสานงานอย่างเต็มที่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันเป็นหนึ่งในพระบรมราโชบายในการพัฒนาโครงการฝนหลวงให้บรรลุวัตถุประสงค์
ด้วยพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันกว้างไกลดังกล่าว กรมฝนหลวงฯ จึงได้สืบสานพระราชปณิธานที่จะไม่หยุดยั้งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ เพี่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติอันส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคต่อไป 
เขียนโดย "รุ้งทอแสง"
#ความแตกต่างย่อมนำมาซึ่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลงหากใช้ให้ถูกทาง
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

ภาพและวีดีโอ