คุณผู้อ่านเคยสงสัยกันหรือไม่ครับ ว่าเวลาที่เราตื่นมาบางครั้งทำไมเรามักจะจำภาพในฝันไม่ค่อยได้ บางท่านอาจจะบอกว่าจำได้ลางๆ ...เหมือนคล้ายๆกับฝันว่า... หรือบางคนอาจจะจำไม่ได้เลย ซึ่งจริงๆแล้วการที่คนเราจำภาพในฝันไม่ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ไม่ได้มีส่วนใดของร่างกายหรือสุขภาพเราบกพร่องด้วยซ้ำ
ถ้าหากจะพูดกันในแง่วิทยาศาสตร์ เพราะในร่างกายของเรานั้นจะมีฮอร์โมนเมลานิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่อยู่ในระดับความเข้มข้นสูง ทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับและความอยากอาหาร โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโกย่า ของประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาพบว่า ขณะที่เรากำลังนอนนั้นในแบบที่เรียกว่าหลับลึก เจ้าฮอร์โมนเมลานิน จะเข้าไปทำปฏิกิริยาลดการยับยั้งของเซลล์ประสาทฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นเซลล์ประสาท มีหน้าที่ช่วยในการจัดวางความทรงจำระยะสั้นเข้าไปเก็บไว้ในระบบความทรงจำระยะยาว และเชื่อมต่อกับอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจ ทำให้เวลาที่เราตื่นมานั้นภาพความฝันของเราทั้งหมด อาจจะถูกลบ บางคนจำได้เลือนลาง หรือบางคนจำไม่ได้เลยก็มีครับ อย่างไรก็ตามการที่เราจำภาพในความฝันไม่ได้นั้นก็มีข้อดีเหมือนกัน คือจะทำให้เรานอนหลับได้สนิทมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันคนที่สามารถจดจำภาพในฝันได้นั้น มักจะเป็นคนที่นอนหลับไม่ค่อยสนิท เป็นคนที่มักจะตื่นง่ายในช่วงกลางดึก แล้วกว่าจะหลับได้อีกครั้งบางทีอาจต้องใช้เวลานานมาก แต่จากประสบการณ์เรื่องการจำภาพในความฝันได้ดีหรือไม่นั้น คนรอบข้างของผมนั้นก็มีเทคนิคดีๆมาฝากกัน โดยเราต้องตั้งใจคิดถึงในเรื่องที่อยากจะสมปรารถนาก่อนที่จะนอน โดยเฉพาะในค่ำคืนประมาณวันที่ 15 หรือ 30 กับ 31 ของทุกเดือน เมื่อตื่นเช้ามาส่วนใหญ่มักจะจำกันได้แม่นยำมาก และบางคนอาจจะได้รางวัลจากการที่เป็นคนช่างฝันก็เป็นได้
กลับมาที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กันดีกว่าครับพวกเราก็มีภาพในฝันเช่นกัน ว่าอยากเห็นพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ มีน้ำอย่างเพียงพอสำหรับการใช้งานในการเกษตร มีน้ำต้นทุนในเขื่อนได้ใช้อย่างเพียงพอในยามฝนทิ้งช่วง หรือฤดูแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งน้ำสำรองส่วนตัวอย่างเพียงพอ สำหรับการอุปโภค บริโภค สำหรับการเกษตรในครัวเรือน ซึ่งความปรารถนานี้พวกเรามีที่มาจากการที่เราได้เห็นหลักฐานจากการทดลองปฏิบัติการฝนหลวง จากพระบิดาแห่งฝนหลวงของพวกเรา ที่ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงบัญชาการสาธิตการปฏิบัติการฝนหลวงด้วยพระองค์เอง ให้แก่บรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวสิงคโปร์ ได้ชมความอัศจรรย์ของการปฏิบัติการฝนหลวง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่พระองค์ได้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในด้านการดัดแปรสภาพอากาศสามารถทำให้เมฆก่อเกิดเป็นฝนตกลงมาได้ สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นแค่ภาพในฝันแต่มันคือ ภาพความทรงจำที่ได้ถูกบันทึกลงในจิตใจของเราที่ต่อให้นอนหลับไปอีกหลายคืน หลายวัน หรือหลายๆปีก็ตาม ต่อให้ตื่นมากี่ครั้งก็สามารถจดจำเหตุการณ์เหล่านี้ได้ และในเดือนนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดกิจกรรมการประกวดบทความในหัวข้อ “ในหลวง ร.9 ในความทรงจำ” จึง อยากขอเชิญชวนให้คุณผู้อ่านร่วมเขียนบทความน้อมรำลึกถึงพระองค์ โดยเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ ความรู้สึกประทับใจในความทรงจำ ที่มีต่อพระองค์ แล้วพวกเราจะได้มาร่วมกันแบ่งปันความทรงจำที่สวยงามในแบบที่แต่ละท่านเคยประสพมา และตอนนี้ยังพอมีเวลาเกือบๆ 1 สัปดาห์ ให้ทุกท่านได้ร่วมถ่ายทอดความทรงจำของท่าน ให้เป็นตัวหนังสือกันจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2564 นี้ อย่าลืมส่งกันเข้ามาเยอะๆ นะครับ
#ภาพความทรงจำในอดีตนั้นสวยงามเสมอหากเรานำมาเป็นภาพในปัจจุบัน
เขียนโดย “เมฆเล็กเล็ก”