10 กันยายน 2564
306
ครั้ง
พิษมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติ และเกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น
พิษตามธรรมชาติมีทั้งในพืชและสัตว์ มีอันตรายต่อมนุษย์มากน้อยต่างกัน บางชนิดมีความรุนแรงที่สามารถทำให้มนุษย์เสียชีวิตลงได้ พิษเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับตัวผู้ล่าหรือเหยื่อเพื่อเอาชีวิตตัวเองให้รอด โดยผู้ล่าจะใช้พิษเพื่อล่าเหยื่อในการดำรงชีวิต ส่วนเหยื่อบางชนิดก็ไม่เบาที่จะมีพิษเพื่อเอาชีวิตให้รอด แต่มนุษย์นั้นร้ายกว่าจึงนำพิษที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้งานไม่ว่าจะเพื่อล่าเหยื่อมาดำรงชีพ เช่น ธนูอาบยาพิษที่ไม่ร้ายแรงเพื่อให้เหยื่อสลบ การใช้สมุนไพรอย่างโล่ติ้นเพื่อเบื่อปลาให้เมาแล้วจับมาเป็นอาหาร ตลอดจนใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้เพื่อเข่นฆ่าเอาชีวิตกันในรูปแบบต่างๆอาทิ ยาสั่ง อาวุธอาบยาพิษ เป็นต้น แต่สิ่งที่ร้ายกาจยิ่งกว่าอาวุธอาบยาพิษ หรือ ยาสั่ง ทั้งหลายก็คงไม่พ้นพิษจากคำคน เพราะไม่ได้เป็นการนำพิษมาจากพืชหรือสัตว์มาเป็นอาวุธ แต่เป็นพิษที่เกิดจากปากตนเอง มีอิทธิพลในการสร้างความปั่นป่วนให้สังคม บั่นทอนจิตใจต่อผู้คน บางคนที่อ่อนแอเกินจนไร้ภูมิต้านทานที่จะทนพิษจากคำพูดเหล่านั้นได้ อาจถึงขั้นปลิดชีวิตลงได้
อย่างไรก็ตามเราทุกคนต้องเผชิญกับสารพิษในชีวิตประจำวันจากฝีมือของพวกเราเอง เช่น มลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์โดยเฉพาะในนามของฝุ่นจิ๋วหรือPM 2.5 ที่สามารถทะลุเข้าไปสู่ร่างกายทางลมหายใจที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างมากมาย มลพิษทางน้ำที่ทำให้น้ำเน่าเสียมีผลต่อชีวิตสัตว์น้ำและการใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นต้น การที่มีสารพิษในชีวิตประจำวันเช่นนี้จึงต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆออกหลักเกณฑ์ในการควบคุมไม่ให้เกิดมลพิษที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ดังเช่นหน่วยงานนานาชาติที่ควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มได้แก่ องการอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) สำหรับภายในประเทศก็มีกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานน้ำดื่มเช่นเดียวกัน ส่วนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO: Food and Agriculture Organization of the United Nations)เป็นผู้กำหนดมาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
ทุกท่านรู้หรือไม่ มิใช่มีเพียงหน่วยงานหรือองค์กรนานาชาติที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็มีความห่วงใยเช่นเดียวกันและเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในคุณภาพของน้ำฝนที่เกิดจากการปฏิบัติการของกรมฝนหลวงฯ จึงมีการวิเคราะห์ประเมินคุณภาพน้ำโดยการเก็บตัวอย่างน้ำฝนที่เกิดจากการปฏิบัติการของกรมในปัจจุบันจำนวน 30 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในภูมิภาค การวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝนมีการดำเนินการทั้งคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของตัวอย่างน้ำฝนที่เก็บมาจากสถานีต่างๆ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างน้ำฝนที่ได้จากการปฏิบัติการฝนหลวงและน้ำฝนธรรมชาติ ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำเพื่อการบริโภคและเพื่อการเกษตร ผลการวิเคราะห์พบว่าน้ำฝนที่เกิดจากการปฏิบัติการของกรมฝนหลวงฯมีคุณภาพไม่ต่างจากน้ำฝนธรรมชาติ และเป็นไปตามมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก(WHO) กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนมาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตรขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
จะเห็นได้ว่าน้ำฝนที่เกิดจากโครงการพระราชดำริฝนหลวงไม่ได้เป็นพิษอย่างที่บางคนคิดและใช้พิษของคำตนสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม มันบาปนะรู้มั้ย!!!
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#พิษใดจะร้ายเท่าพิษคำคน