เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
901
เดือนนี้
61258
เมื่อวาน
2965
เดือนที่แล้ว
38688
ในหลวง ร.9 ในความทรงจำ
9 ตุลาคม 2564 389 ครั้ง

“…When night's curtain starts to fall
And light fades away,
My thoughts fly back to that day,
You were so near...”

#Still on my mind (ในดวงใจนิรันดร์) เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ทำนองแสนหวานที่ฉันมักเปิดปลอบประโลมใจในวันที่รู้สึกอ่อนล้าหรือหลงทาง ซึ่งหลายครั้งพอได้ฟังแล้วน้ำตาก็ยังแอบไหล แต่บทเพลงก็มักนำอารมณ์ของเรากลับมาอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง พร้อมกับระลึกอยู่ในใจเสมอว่าเราต้องเข้มแข็ง แจ่มใส มีพลัง และเปี่ยมความหวังอยู่เสมอ...ยิ้มสู้ค่ะ ^ ^

ย้อนไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว นานมากเลยใช่ไหมคะ : ) ในช่วงค่ำของวันที่ 4 ธันวาคม ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง ร.9 ทุกปี เด็กหญิงชั้นประถมคนหนึ่งที่เติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ ของเมืองน่าน มักได้มีโอกาสนั่งฟังพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานแก่คนไทยทั้งประเทศและคณะบุคคลที่มาเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ซึ่งถือเป็นโปรแกรมที่คุณแม่ไม่เคยพลาดเลยและตั้งใจให้ลูกสาวนั่งดูนั่งฟังอยู่ด้วยเสมอ สำหรับปีที่จำได้ดีเป็นพิเศษคือในวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ปีนั้น ในหลวง ร.9 ทรงเป็นวิทยากรพิเศษในหัวข้อเรื่อง #การจัดการน้ำท่วม และในครานั้นพระองค์ทรงตรัสเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ขึ้นไปอธิบายข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในขณะนั้นได้ขึ้นไปถวายข้อมูลสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่านได้ชัดเจนจนในหลวงทรงตรัสชม ทำให้คุณแม่ปลื้มมาก จากวันนั้นเด็กหญิงก็เริ่มมีความสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แล้วเลือกเรียนด้านนิเวศวิทยาและการจัดการลุ่มน้ำในที่สุด

หลังจากเรียนจบเธอได้มีโอกาสไปทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยของโครงการคนอยู่ร่วมกับป่าไม้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ #โครงการหลวง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นจากเมตตาธรรมของในหลวง ร.9 โดยมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานทั้งเพื่อมนุษยธรรม การแก้ปัญหายาเสพติด และการรักษาป่าต้นน้ำ ในระหว่างการลงไปเก็บข้อมูลและทำกิจกรรมบนดอย เธอได้สัมผัสผลงานที่เกิดขึ้นบนพื้นที่เหล่านั้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในคราหนึ่งเธอได้มีโอกาสร่วมติดตามนักวิจัยซึ่งกำลังศึกษาเกี่ยวกับ #แนวคิดซาโตยามา (Satoyama Initiative) ของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงแนวคิดการอยู่ร่วมกับป่าไม้อย่างยั่งยืนในประเทศต่างๆ 

สำหรับประเทศไทยนักวิจัยได้ขออนุญาตเข้ามาศึกษาแนวทางการดำเนินงานของโครงการหลวง จากการได้มีส่วนรวมในการสัมภาษณ์คณาจารย์ที่ได้มีโอกาสถวายงานในยุคเริ่มต้นโครงการหลวงจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เธอได้ฟังเรื่องราวความประทับใจ ความตื่นเต้น และความยากลำบากในการดำเนินงานสมัยเริ่มแรกถูกถ่ายทอด ทั้งในส่วนของการเดินทาง การสื่อสาร เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ สิ่งที่เธอสัมผัสได้จากถ้อยคำบอกเล่า คือ ในหลวง ร.9 ทรงถือเป็นแหล่งพลังและกำลังใจสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทุกท่านมีความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ถวายและได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ระหว่างการเล่าเรื่องทุกครั้งมักมีน้ำตาคลอหน่วยที่เกิดจากความรู้สึกตื้นตันทั้งของผู้เล่าและผู้ฟังเสมอ ไม่เว้นแม้แต่นักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นผู้นั้น

เธอโชคดีที่ได้เห็นและได้ฟังความดีงามเหล่านั้นด้วยตัวเองและตระหนักในหลักการทรงงาน “#เข้าใจ #เข้าถึง และ #พัฒนา” จนก่อกำเนิดโครงการพระราชดำริตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำหลากหลายโครงการ ในหลวง ร.9 ทรงเป็นต้นแบบของ #การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ทรงศึกษาข้อมูลในพื้นที่อย่างถ่องแท้ ระบุปัญหาในพื้นที่ได้ชัดเจน และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา นอกจากนั้นยังทรงพิจารณาถึงความสอดคล้องกับลักษณะ #ภูมิสังคม ซึ่งรวมทั้งลักษณะพื้นที่ สังคม และวิถีชีวิตเสมอ อย่างไรก็ตามงานด้านพัฒนาซึ่งมีพลวัตรของสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถือว่าเป็นงานที่มีความยากและใช้เวลามาก จำเป็นต้องอาศัยความสามารถ ความอดทน ความเสียสละ ความร่วมมือ และความปรารถนาดีที่แท้จริงต่อกันของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะวิกฤติในปัจจุบันนี้ 

จึงอยากเชิญชวนให้พวกเราอัญเชิญพระราชดำริของในหลวง ร.9 ในด้านต่างๆ มาพิจารณาอย่างลึกซึ้งและเลือกมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของตัวเอง รวมถึงการฝึกพละ 5 เป็นกำลังหนุนจิต ได้แก่ ศรัทธา (ความเชื่อมั่นในทางที่ถูกต้อง) วิริยะ (กล้าต่อสู้กับอุปสรรคโดยไม่ย่อท้อ) สติ (ความระลึกได้) สมาธิ (ความตั้งมั่นของจิต) และปัญญา (ความรู้ทั่ว) สิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเรารู้สึกได้ว่าในหลวง ร.9 จะยังคงอยู่ในใจของพวกเราเสมอ และเชื่อว่าจะมีแสงสว่างคอยนำทางพวกเราให้ผ่านพ้นสถานการณ์ในตอนนี้ไปได้ พร้อมๆ กับการมีภูมิคุ้มกันชีวิตที่แข็งแรงขึ้น 

สำหรับเด็กหญิงคนนั้นแล้วในหลวง ร.9 ทรงเป็นทั้งแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจอยู่ภายในเสมอ โดยในปัจจุบันเธอได้มีโอกาสมาปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ฝนหลวง ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยและเธอมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อนำน้ำพระทัยของในหลวง ร.9 ไปสู่ประชาชนของพระองค์ให้ทั่วถึงมากที่สุด ทั้งนี้ ขอร่วมเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่กำลังตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่ในที่ต่างๆ รวมถึงพี่น้องเกษตรกร และประชาชนคนไทยทุกคน

 “…ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา
สร้างแต่ความเมตตาหาความสุขสันต์ไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
เฝ้าแต่ยิ้มสู้ไปแล้วใจชื่นบาน”
- บทเพลงพระราชนิพนธ์ยิ้มสู้ –

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้
- บัวบูชา -

 

ภาพและวีดีโอ