วันเวลาผ่านไปจนตอนนี้ก็เข้าสู่ปลายเดือนตุลาคมแล้ว อีกแค่ 2 เดือนเราก็กำลังจะเริ่มต้นปีใหม่ บรรยากาศปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาวที่อากาศเย็นกำลังเริ่มเข้ามาให้เราสัมผัสได้นั้น คงจะทำให้หลายท่านเริ่มทบทวนสิ่งที่ตั้งใจจะทำในปี 2021 ว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้ทำสิ่งใดสำเร็จบรรลุเป้าหมายของตัวเองไปบ้าง และเริ่มวางแผนว่าในปี 2022 จะตั้งเป้าหมายทำอะไรดี
พอพูดถึงเรื่องเป้าหมาย จริงๆ แล้วไม่ได้มีขอบเขตจำกัดตายตัว นั่นเป็นเพราะว่าชีวิตของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป เช่น บางคนอยากเก็บเงินจำนวนหนึ่งให้ได้ในเวลา 1 ปี แต่บางคนอาจจะใช้เวลา 2 ปี หรือ 5 ปีก็ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเราทุกคนสามารถตั้งเป้าหมายได้ทุกคน อาจจะเป็นเป้าหมายรายวัน รายสัปดาห์ ไปจนถึงรายปี เพื่อทำให้ตัวเองขยับเข้าใกล้ความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ และแน่นอนว่า สิ่งที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ คือ การลงมือทำ
การลงมือทำก็ต้องเริ่มจากการคิด วางแผนขั้นตอน ไม่เพียงแต่เรื่องเป้าหมายในชีวิตที่เรามี เรื่องการทำงานในด้านต่างๆ ก็ต้องมีลำดับขั้นตอนด้วย อย่างช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน แต่ก็ยังมีฝนตกกระจายหลายพื้นที่ บางแห่งฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ บางแห่งยังประสบกับปัญหาอุทกภัยที่กำลังค่อยๆ ดีขึ้น การปฏิบัติการฝนหลวงของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงยิ่งต้องระมัดระวังและวางแผนทำงานเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายที่ยังมีความต้องการน้ำอยู่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
การปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงนี้ เราจึงเน้นไปที่ขั้นตอนที่ 3 “การโจมตี” จากทั้งหมด 6 ขั้นตอนในตำราฝนหลวงพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งการโจมตีเป็นขั้นตอนที่จะปฏิบัติการเมื่อเมฆในพื้นที่เป้าหมายมีขนาดใหญ่ เม็ดน้ำภายในก้อนเมฆจะขนาดโตและหนาแน่นพร้อมที่จะตกเป็นฝน เป็นการดัดแปรสภาพอากาศให้กลุ่มเมฆตกเป็นฝนหรือทำให้ฝนที่ตกอยู่แล้วตกเป็นฝนหนาแน่นมากขึ้น สารที่ใช้ในขั้นตอนนี้จะเป็นสารฝนหลวงสูตร 1 คือเกลือ และสูตร 4 คือ ยูเรีย ขั้นตอนนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นขั้นตอนที่จะทำให้มีฝนตกลงในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยผู้ที่วางแผนการปฏิบัติการจะต้องมีความรู้ความชำนาญต่อพื้นที่เป็นอย่างดี เพื่อที่จะวางแผนการปฏิบัติการก่อเมฆหรือเลี้ยงให้อ้วนในพื้นที่ก่อนที่จะถึงพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้เมฆมีขนาดที่เหมาะสมพร้อมที่จะตกเป็นฝน โดยให้ลมพากลุ่มเมฆให้เข้าสู้พื้นทีเป้าหมาย
แต่ก่อนที่จะขึ้นบินไปโจมตีกลุ่มเมฆ จะต้องติดตามกลุ่มเมฆที่จะไปโจมตีก่อน ทั้งการติดตามด้วยภาพดาวเทียม ภาพเรดาร์ตรวจจับกลุ่มฝน และจากอาสาสมัครฝนหลวง เพื่อให้กลุ่มเมฆที่จะไปปฏิบัติการมีความเหมาะสมต่อการโจมตี จากนั้นจะขึ้นไปบินไปปฏิบัติการ โดยใช้เครื่องบิน 2 ลำ เครื่องบินลำบนจะอยู่ระดับสูงกว่าเครื่องบินลำล่าง ซึ่งเครื่องบินลำบนจะบรรทุกสารฝนหลวงสูตร 1 (เกลือ) เครื่องบินลำล่างบรรทุกสารฝนหลวงสูตร 4 (ยูเรีย) บินไปด้วยกัน นักวิชาการบนเครื่องบินจะทำหน้าที่เลือกกลุ่มเมฆและบอกนักบินให้บินไปตามทิศทางที่ต้องการ
ในช่วงเวลาที่มีการโปรยสารฝนหลวง เมฆที่ปฏิบัติการจะเป็นเมฆคิวมูลัสที่มีขนาดใหญ่ มีความหนาแน่น ยอดเมฆมีลักษณะเป็นดอกกระหล่ำ เมฆมีสีค่อนข้างเข้ม โดยจะอยู่ต้นลมก่อนที่จะถึงพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเลือกกลุ่มเมฆคิวมูลัสที่จะโจมตีได้เลย เครื่องบินลำบนจะโปรยสารสูตร 1 ที่ระดับสูงกว่าเครื่องบินลำล่างที่โปรยสารสูตร 4 โดยสารสูตร 1 จะดูดซับเม็ดน้ำ เพิ่มขนาดเม็ดน้ำ และร่วงหล่นลงมารวมกับเม็ดน้ำที่อยู่ฐานเมฆ ส่วนสารสูตร 4 ทำให้อากาศที่ฐานเมฆเย็นและก้อนเมฆจมตัวลง เม็ดน้ำขนาดใหญ่ที่อออยู่ก็จะร่วงลงมาเป็นฝน
ขั้นตอนที่ 3 นี้เราจะเรียกว่าขั้นตอนซุปเปอร์แซนวิช ในขณะที่โปรยสารจะสังเกตเห็นเมฆมีความหนาแน่นมากขึ้น จากเมฆที่มีสีขาวออกเทาๆ ไม่เข้มมาก เมฆจะสีเข้มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณฐานเมฆที่มีสีเข้มอย่างเห็นได้ชัด ในบางครั้งอาจจะมีเม็ดน้ำปะทะกระจกเครื่องบิน จากเม็ดน้ำขนาดไม่ใหญ่เป็นเม็ดน้ำที่ใหญ่ขึ้นๆ ฐานเมฆเมฆที่ดำเข้มจะมีลักษณะเรียบตรงบางส่วนอาจจะย้อยลงมาบ้าง ในช่วงนี้เมฆจะท้องแก่จัดพร้อมที่จะตกลงมาเป็นฝน เมื่อโปรยสารต่อไปจะเริ่มเห็นสายฝนค่อย ๆ ตกลงมาจากสายบางๆ เริ่มหนาตามากขึ้นจนตกหนาแน่น
นอกจากนี้ในช่วงที่เมฆแก่จัด ก็จะใช้น้ำแข็งแห้งโปรยที่ใต้ฐานเมฆที่ดำเข้มนี้ เพื่อทำให้อุณหภูมิใต้ฐานเมฆลดต่ำลงไปอีก และทำให้กลุ่มเมฆเคลื่อนที่ต่ำลง จะทำให้ฝนตกหนาแน่นมากขึ้นและตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้ตรงตามที่ต้องการ ทั้งนี้ทั้งนั้นความสำคัญอยู่ที่การเลือกเมฆของนักวิทยาศาสตร์และช่วงเวลาที่ปฏิบัติการจะต้องมีความเหมาะสม เพื่อโจมตีให้เมฆตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้ทันทีเวลา ก่อนที่เมฆจะลอยไปตกนอกเป้าหมายหรือตกก่อนถึงพื้นที่เป้าหมายจนหมด ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ยากมากเนื่องจากมีปัจจัยอื่นทางสภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ไม่ว่าจะยากแค่ไหน พวกเราทุกคนก็ยินดีและตั้งใจที่จะทำฝนให้สำเร็จ เพื่อให้เป้าหมายซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนและยังต้องการน้ำอยู่ ได้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อไป
#เมื่อมีเป้าหมาย_จงพยายามและตั้งใจทำให้สำเร็จ
เขียนโดย ปุยเมฆ