เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
3516
เดือนนี้
51731
เมื่อวาน
3523
เดือนที่แล้ว
38688
#เพิ่มทางเลือกเพื่อเพิ่มโอกาส ตอนที่ 2
21 ตุลาคม 2564 820 ครั้ง

ในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนของทุกปี ประเทศไทยมักเกิดพายุฤดูร้อนและลูกเห็บที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ทั้งอาคารบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงมีส่วนในการบรรเทาภัยธรรมชาตินี้ด้วยการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น เพื่อบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บและเพิ่มปริมาณน้ำฝน ซึ่งหลายท่านอาจจะสงสัยว่า การปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นคืออะไร?

การปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น คือ คือการปฏิบัติการฝนหลวงขั้นตอนที่ 3 หรือโจมตี กับเมฆเย็น ซึ่งเป็นเมฆที่ลอยอยู่ตั้งแต่ระดับประมาณ 18,000 ฟุตขึ้นไป และมีอุณหภูมิในเมฆต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เม็ดน้ำในเมฆเย็นจะเป็นเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด คือ เป็นเม็ดน้ำที่เย็นจัด และในการปฏิบัติการฝนหลวงจะปล่อยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ (AgI Flare) ที่ยอดเมฆซึ่งมีอุณหภูมิตั้งแต่ -4 ถึง -12 องศาเซลเซียส เพื่อเพิ่มปริมาณแกนน้ำแข็งที่ยอดเมฆ ทำให้เมฆตกเป็นฝนและมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าตกเองตามธรรมชาติ 

ในขณะที่เรื่องการยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ซึ่งเป็น 1 ในภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่มีส่วนช่วยบรรเทาภัยธรรมชาตินี้ จะปฏิบัติการฝนหลวงด้วยการยิงพลุพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ในปริมาณที่มากกว่าปกติ (Over seeded) เนื่องจากเมฆมีการยกตัวรุนแรงมากกว่าปกติ น้ำเย็นยิ่งยวดในเมฆมีปริมาณมาก การใช้แกนน้ำแข็งปริมาณมากจะทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กปริมาณมาก ช่วยให้เมฆตกเป็นฝนก่อนที่เมฆจะก่อยอดสูงขึ้นจนถึงระดับที่เกิดลูกเห็บขึ้นได้นั่นเองครับ

เล่ามาถึงตรงนี้แล้วทุกท่านคงจะพอนึกภาพออกใช่ไหมครับว่าการปฏิบัติการฝนหลวงก็สามารถช่วยยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บได้ แต่ในการปฏิบัติภารกิจก็ย่อมที่จะต้องมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ซึ่งภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ปฏิบัติการที่ไม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างปลอดภัยทั้งในช่วงเวลากลางคืน และพื้นที่เสี่ยงในการบิน ส่งผลให้เกิดความเสียหายให้กับทรัพย์สินและประชาชนจากพายุลูกเห็บที่ไม่สามารถยับยั้งได้ ดังนั้น ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงเกิดแนวความคิดในการร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศวิจัยและพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ ที่มีสมรรถนะเพียงพอในการปฏิบัติการภารกิจยับยั้งลูกเห็บและปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นในสภาพอากาศของประเทศไทยขึ้นมา

ในความร่วมมือนี้ได้กำหนดความต้องการทางเทคนิคให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและผลิตจรวดสำหรับบรรจุสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ ใช้ในภารกิจยับยั้งพายุลูกเห็บ เพื่อใช้เป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการสนับสนุนภารกิจการทำฝนเมฆเย็นหรือสลายลูกเห็บ ในกรณีที่สภาพอากาศแปรปรวนเครื่องบินไม่สามารถขึ้นบินได้ โดยจรวดที่วิจัยและพัฒนาจะถูกยิงจากพื้นสู่อากาศเข้าสู่ก้อนเมฆที่ระดับความสูงประมาณ 18,000-24,000 ฟุต เพื่อปล่อยสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ลงในเมฆเย็น และมีระบบร่มนิรภัยสำหรับลดความเร็วของชิ้นส่วนจรวดให้ตกลงสู่พื้น เพื่อความปลอดภัยในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำหนดพื้นที่ทดลองปฏิบัติการเป็นพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำและเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยจากชุมชน เหมาะสำหรับทำให้เมฆเย็นตกลงมาเป็นฝน 

และความก้าวหน้าในปัจจุบันเราได้ต้นแบบจรวดตัดแปรสภาพอากาศที่มีชิ้นส่วนน้ำหนักเบา ได้ต้นแบบฐานยิงจรวดเคลื่อนที่เร็วแบบรถบรรทุกขนาดเล็ก 1 คัน และฐานปล่อยจรวด 2 ชุด และขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบใช้จรวดดัดแปรสภาพอากาศเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น และยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บในสภาพจริงครับ

ทางเลือกนี้ ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือที่เป็นการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่มุ่งมั่นในการวิจัยของทั้ง 2 หน่วยงาน ที่นอกจากจะเพิ่มโอกาสการปฏิบัติการฝนหลวงให้ได้ภายใต้ข้อจำกัดแล้ว นั่นคือการช่วยบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากลูกเห็บให้กับพี่น้องประชาชน บ้านเรือน และผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหาย  รวมถึงช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการต่อไป


เขียนโดย อัมพุท

ภาพและวีดีโอ