เปลี่ยนการแสดงผล
ถูกที่ ถูกเวลา ตรงความต้องการ ด้วย 'แผนที่ความต้องการน้ำ'
25 พฤศจิกายน 2564 837 ครั้ง

ในการทำฝนหลวงนั้น เป็นที่ทราบกันดีนะคะว่า ต้องอาศัยปัจจัยทางสภาพอากาศ และข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจการวางแผนการทำฝนหลวงให้เกิดผลสูงสุด และหากจะกล่าวถึงอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่กรมฝนหลวงฯ ได้ริเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยสนับสนุนให้การทำฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้ สิ่งนั้นก็คือ 'แผนที่ความต้องการน้ำ' ค่ะ

จะขอเกริ่นก่อนนะคะว่า 'แผนที่ความต้องการน้ำ' ของเรานั้น พึ่งจะได้รับรางวัลเลิศรัฐ ในสาขาบริการภาครัฐ ประเภทรางวัลนวัตกรรมบริการ “ระดับดี” เรื่องแผนที่ความต้องการน้ำเพื่อการปฏิบัติการฝนหลวงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมาค่ะ สุดยอดไปเลยใช่มั้ยล่ะคะ

วันนี้เราจึงจะพามารู้จัก นวัตกรรมสุดเจ๋งชิ้นนี้กันให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ว่ามีส่วนช่วยให้การทำฝนหลวงนั้นมีประสิทธิภาพอย่างไรกับประชาชนและเกษตรกรกันค่ะ 

ที่มาของ ‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ เกิดจากการที่เรา มีเป้าหมายหลักของการทำฝนหลวงคือ ถูกที่ ถูกเวลา และตรงกับความต้องการ ทันต่อการแก้ปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน เพราะบางครั้งในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้งหรือภาวะฝนทิ้งช่วง การมีแผนที่ความต้องการน้ำ จะทำให้เรามองภาพรวมได้ออก ซึ่งแผนที่จะแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ไหนต้องการน้ำและพื้นที่ไหนที่มีน้ำเพียงพอแล้ว และสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ทันท่วงทีค่ะ

และด้วยการทำฝนหลวง จะมีการวางแผนและกำหนดพื้นที่เป้าหมายสำหรับการทำฝนหลวงประจำวัน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ พื้นที่ขอรับบริการฝนหลวง และพื้นที่ประสบภัยแล้งของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหลัก แต่ยังขาดข้อมูลสภาพพื้นที่ (Landscapes) และข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การเกษตรที่มีการเพาะปลูกในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ และข้อมูลความต้องการน้ำของพืชเกษตรกรรมตามช่วงการเจริญเติบโตที่สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นลักษณะของข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Dynamics) จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่จะต้องนำมาประกอบเพิ่มเติม สำหรับการตัดสินใจวางแผนการทำฝนหลวง และกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการทำฝนหลวงให้แม่นยำมากขึ้นค่ะ

‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ จึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคนิคการสำรวจระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยการบูรณาการข้อมูลระหว่างข้อมูลด้านการเกษตร ด้านอุทกวิทยา และด้านอุตุนิยมวิทยาค่ะ

โดยปัจจุบันกรมฝนหลวงฯ ได้มีการพัฒนา ‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ ในรูปแบบของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แม่ข่ายเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง หรือ Fonluang Geo-Map ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรม ที่เว็บไซต์ https://geomaps.royalrain.go.th/portal/home/ โดยระบบสารสนเทศนี้จะมีการปรับปรุงข้อมูลรายวัน (Daily Update) และชุดข้อมูลเชิงพื้นที่ได้พร้อมกัน ผ่านการซ้อนทับของข้อมูลในลักษณะแผนที่เดียว (One Map) ซึ่งการจัดทำ ‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ เราจะทำการซ้อนทับข้อมูลหลักที่สำคัญลงบนแผนที่ 6 ชั้นข้อมูล ได้แก่ พื้นที่แสดงความต้องการน้ำของพืช พื้นที่ประกาศภัยแล้ง ผู้ขอรับบริการฝนหลวง แหล่งน้ำขนาดใหญ่เฝ้าระวังน้ำใช้การน้อยกว่า 30%  ปริมาณฝนสะสมทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และปริมาณความชื้นในดินทั่วประเทศ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ของทุกศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผน กำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก และเป้าหมายรองในการทำฝนหลวงประจำวันเชิงรุก

ซึ่งจากการที่เรานำ ‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ มาใช้ในการวางแผนและกำหนดพื้นที่เป้าหมายการทำฝนหลวง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ (ผู้ใช้งาน) สามารถลดระยะเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนการทำฝนหลวงประจำวัน จากเดิม 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 25 นาที และจากการที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศกำหนดพื้นที่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ทันเวลาก่อนเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ผู้ขอรับบริการฝนหลวงมีความพึงพอใจเฉลี่ยร้อยละ 85.93 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 7.86 เลยทีเดียวค่ะ

นอกจากนี้ เรายังมีการตรวจสอบข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนา ‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการรับฟังปัญหาอุปสรรคจากการใช้งานของนักวิทยาศาสตร์ การประสานความร่วมมือกับอาสาสมัครฝนหลวง และหน่วยงานในพื้นที่ ในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือพื้นที่การเกษตรที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับพื้นที่เป้าหมายในการทำฝนหลวงที่วิเคราะห์ได้จาก ‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ เพื่อยืนยันความถูกต้อง แม่นยำ ของแผนที่ รวมไปถึงการใช้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินสำรวจพื้นที่การเกษตรในภาพกว้าง เพื่อนำข้อมูลสภาพพื้นที่จริงมาตรวจสอบกับการกำหนดพื้นที่ความต้องการน้ำของพืชที่ได้จากแบบจำลองการประเมินความต้องการใช้น้ำของพืชด้วยค่ะ

จะเห็นได้ว่า ‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมความแม่นยำของการวางแผนและกำหนดพิกัดพื้นที่เป้าหมายในการทำฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้ถูกที่ ถูกเวลา และตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง รวมทั้งลดความเสี่ยงจากการเกิดผลกระทบในพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝนอีกด้วย ซึ่งในอนาคตกรมฝนหลวงฯ ยังมีแผนพัฒนา ‘แผนที่ความต้องการน้ำ’ ให้เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้แก่เกษตรกร เรื่อง ความต้องการน้ำเชิงพื้นที่ ในรูปแบบ Mobile Application ผ่านกลไกการขับเคลื่อนของอาสาสมัครฝนหลวงภาคประชาชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำชุดข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้วางแผนการเพาะปลูกพืชในแต่ละฤดูกาลค่ะ นับว่าเป็น Smart Rain Making  Service ที่จะมาช่วยส่งเสริมภาคเกษตรกรรมของประเทศให้เกิดความอย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง :
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แม่ข่ายเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง (Fonluang Geo-Map)
https://geomaps.royalrain.go.th/portal/home/

ภาพและวีดีโอ