เปลี่ยนการแสดงผล
การทำฝนหลวงในประเทศไทยกับการทำฝนเทียมของต่างประเทศ
19 พฤศจิกายน 2558 29,505 ครั้ง

การทำฝนหลวงในประเทศไทยกับการทำฝนเทียมของต่างประเทศ

วันที่ 19  พฤศจิกายน 2558 นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่าในการปฏิบัติการดัดแปรภาพอากาศในประเทศไทย กรมฝนหลวงฯจะใช้วิธีการทำฝนเมฆอุ่น โดยที่สภาวะที่เหมาะสมอยู่ที่ปริมาณความชื้นในอากาศมีมาก ปริมาณและคุณสมบัติของแกนกลั่นตัวมีพอเหมาะ และบรรยากาศไม่มีความเสถียร ปริมาณน้ำฝนที่ตกจากเมฆอุ่นจะมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่มเมฆ และฝนที่ตกในประเทศไทยมากกว่า 90 % เป็นฝนจากเมฆอุ่น ซึ่งมีขั้นตอนการทำ 3 ขั้นตอน เริ่มจากขั้นตอนที่ 1 เป็นการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อเร่งหรือเสริมการเกิดเมฆ โดยการโปรยสารโซเดียมคลอไรด์ ในท้องฟ้าที่มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นได้ดี จะทำหน้าที่เสริมประสิทธิภาพของแกนกลั่นตัวในบรรยากาศ ทำให้กระบวนการดูดซับความชื้นในอากาศให้กลายเป็นเม็ดน้ำเกิดเร็วขึ้นกว่าธรรมชาติ และเกิดกลุ่มเมฆจำนวนมาก ขั้นที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน เป็นการเพิ่มขนาดของเมฆและขนาดของเม็ดน้ำในก้อนเมฆจะปฏิบัติการเมื่อเมฆที่ก่อตัวจากขั้นตอนที่ 1 ก่อยอดสูงถึงระดับ 10,000 ฟุต  โดยการโปรยสารแคลเซียมคลอไรด์ ซึ่งจะดูดซับความชื้นและเม็ดน้ำขนาดเล็กในก้อนเมฆให้กลายเป็นเม็ดน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากเกิดขึ้นในก้อนเมฆ และยอดเมฆพัฒนาตัวสูงขึ้นในขั้นนี้ เมฆจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและก่อยอดสูงขึ้นไป ขั้นตอนที่ 3 โจมตี เป็นการเร่งให้เมฆเกิดเป็นฝน เมื่อเมฆแก่ตัว ยอดเมฆจะอยู่ที่ระดับ 10,000 ฟุต จะใช้เครื่องบิน 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ ทับยอดเมฆอีกเครื่องหนึ่งโปรยผงยูเรียที่ฐานเมฆ จนทำให้ฝนใกล้จะตกหรือเริ่มตกแล้ว และจะเร่งการตกของฝนและเพิ่มปริมาณน้ำโดยการโปรยเกล็ดน้ำแข็งแห้ง ที่ระดับใต้ฐานทำให้ฐานเมฆยิ่งลดระดับต่ำลง มีอัตราการตกของฝนสูงขึ้น และทำให้ฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานขึ้นและหนาแน่นขึ้น 

ในส่วนการทำฝนในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีนจะเป็นการทำฝนเมฆเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (0°c) เป็นการทำฝนด้วยกระบวนการเกิดผลึกน้ำแข็ง จะใช้แกนน้ำแข็งเทียม ได้แก่ ซิลเวอร์ไอโอไดด์ น้ำแข็งแห้ง ไนโตรเจนเหลว การปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศจากเมฆเย็นนั้น ยอดเมฆเจริญขึ้นถึง 25,000 ฟุต หรือมากกว่านั้น มีอุณหภูมิในเมฆต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ขั้นตอนในการทำฝนเมฆเย็นคือ เมื่อเมฆพัฒนายอดสูงขึ้นเลยระดับ 20,000 ฟุต ไปแล้ว จะทำการโจมตีโดยการยิงพลุสารเคมี ซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) เข้าสู่ยอดเมฆที่ระดับความสูงประมาณ 21,500 ฟุต ซึ่งมีอุณหภูมิระหว่าง -8 ถึง 12 องศาเซลเซียส มีกระแสอากาศไหลขึ้นสูงกว่า 1,000 ฟุตต่อนาที และปริมาณน้ำเย็นจัดไม่ต่ำกว่า 1 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร อนุภาคสารจะทำหน้าที่เป็นแกนเยือกแข็ง เม็ดน้ำเหล่านั้นกลายเป็นน้ำแข็งและผลักดันให้ยอดเมฆเจริญสูงขึ้นไปอีกจนน้ำแข็งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และล่วงหล่นลงสู่เบื้องล่าง ซึ่งจะละลายเป็นเม็ดน้ำฝน เมื่อผ่านชั้นอุณหภูมิเยือกแข็งลงมาที่ฐานเมฆ และเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นดิน ปริมาณน้ำฝนที่ตกจากเมฆเย็นจะมากกว่าเมฆอุ่นเนื่องจากเมฆมีขนาดใหญ่กว่ามากและในประเทศไทยมีประมาณ 10% เท่านั้นที่เป็นฝนที่ตกจากเมฆเย็นเมื่อเปรียบเทียบกับการทำฝนจากเมฆอุ่น  สำหรับในประเทศไทยมีอากาศในเขตร้อนชื้นจึงเหมาะกับการทำฝนจากเมฆอุ่น  ส่วนเมฆเย็นนั้นโดยขั้นตอนของการทำฝนมีความยุ่งยากกว่า

ภาพและวีดีโอ