เปลี่ยนการแสดงผล
รุ้งกินน้ำ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรามักจะพบเห็นได้หลังช่วงเวลาฝนตก เป็นการหักเหของแสงผ่านละอองน้ำในอากาศทำให้เกิดเป็นเส้นโค้งสีรุ้งขึ้นบนท้องฟ้า
5 พฤษภาคม 2563 831 ครั้ง

#ความศรัทธานำความสำเร็จ

รุ้งกินน้ำ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรามักจะพบเห็นได้หลังช่วงเวลาฝนตก เป็นการหักเหของแสงผ่านละอองน้ำในอากาศทำให้เกิดเป็นเส้นโค้งสีรุ้งขึ้นบนท้องฟ้า ดูน่าตื่นเต้น ในความงดงามเมื่อยามผู้พบเห็น

ทีมนักล่าเมฆของเรา หลังปฏิบัติภารกิจแล้ว ถ้าพบเห็นสายรุ้งจะเป็นความสุขอย่างมาก เพราะสายรุ้งเปรียบเสมือนสัญญลักษณ์แห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของหมู่นักล่าเมฆ และได้รำลึกถึงผู้ที่ถูกขนานนามว่าสายรุ้งแห่งฝนหลวงนั่นเอง

สายรุ้งถูกนำมาใช้เป็นนามเรียกขาน ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นผู้ได้รับการไว้วางใจจากในหลวงร.9 ในการให้ศึกษาตำราวิชาการอุตุนิยมวิทยาและวิทยาศาสตร์บรรยากาศเอกสารอ้างอิง รายงานผลการวิจัยทดลอง กรณีศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปรสภาพอากาศ รวมทั้งข้อมูลและข้อสังเกต ที่พระองค์ทรงบันทึกไว้ขณะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและฤดูกาล ซึ่งทรงเห็นว่ามีอิทธิพลต่อการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน

หลังจากม.ร.ว.เทพฤทธิ์ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่ 2 ปี กลับมารายงานว่าฝนหลวงนั้นทำได้

ด้วยความศรัทธาที่มีต่อในหลวงร.9 ที่ต้องทำฝนเพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และศรัทธาในตนเองที่เชื่อมั่นต้องทำฝนได้ จึงเริ่มร่วมค้นคว้ากับในหลวงร.9 อย่างจริงจัง และเป็นการใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เนื่องจากในช่วงแรกยังไม่ได้รับการสนับสนุนเครื่องไม้ เครื่องมือเท่าใดนัก โดยเฉพาะเครื่องบิน

ด้วยความศรัทธาและมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิจัยการทำฝนหลวงให้สำเร็จ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ฯ เห็นว่าการทำฝนต้องใช้เครื่องบินจึงจะทำฝนได้ จึงตัดสินใจทำการศึกษาด้านการบินจนสำเร็จเป็นนักบินในปี 2505 เพื่อจะขับเครื่องบินขึ้นไปทำฝนด้วยตนเอง

ต่อมาในปี2512 ได้รับการสนับสนุนเครื่องบินจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขึ้นบินทดลองจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรกที่สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

การทดลองครั้งนั้นเป็นบทพิสูจน์ให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถทำฝนได้จริง เพราะหลังจากโปรยน้ำแข็งแห้งไปแล้ว เมฆมีการเปลี่ยนแปลง สีคล้ำมากขึ้นแบบเมฆฝน และตกลงมาเป็นฝนในที่สุดซึ่งได้จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้น

การดำเนินการทดลองได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่ขึ้นบินทำการ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ จะสวมเสื้อช็อบสีส้ม และใช้นกหวีดเป็นการสื่อสารให้จังหวะในการโปรยสาร ทุกวันนี้ยังสามารถเยี่ยมชมเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ ของใช้ ของม.ร.ว.เทพฤทธิ์ฯ ได้ที่พิพิธภัณฑ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ และรูปหล่อครึ่งตัว พร้อมประวัติของท่านได้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

ด้วยการร่วมคิดค้นการทำฝนหลวงของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์กับในหลวงร.9 มาอย่างต่อเนื่องหลังจากการขึ้นบินทดลองครั้งแรกในปี 2512 จนประสพความสำเร็จ ในปี 2516 โดยสรุปการทำงานเป็น 3 ขั้นตอน คือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี

ด้วยความรู้ความสามารถของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ฯชาวฝนหลวงยกย่องท่าน เป็นปรมาจารย์ด้านฝนหลวง และเรียกท่านว่าอาจารย์หม่อม และแสดงการรำลึกถึงท่านด้วยการจัดงานวันสายรุ้งขึ้นทุกปี ในช่วงปลายเดือนธันวาคม โดยถือเอาวันเกิดของท่านคือวันที่ 29 ธันวาคม 2457 เป็นวัดจัดงาน

วันสายรุ้งเป็นวันที่พี่น้องชาวฝนหลวงทั้งอดีตและปัจจุบัน จะมารวมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษของกรมฝนหลวง ที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นโอกาสที่ชาวฝนหลวงรุ่นเก่าและรุ่นใหม่จะได้พบปะกัน

ด้วยความศรัทธาของพี่น้องชาวฝนหลวงที่มีต่ออาจารย์หม่อม ยังได้ปลูกต้นคูนสายรุ้งหน้าอาคารกรมฝนหลวงจำนวน 2 ต้น เป็นสัญญลักษณ์แทนการระลึกถึงความศรัทธาและคุณงามความดี ของอาจารย์หม่อม ที่มีส่วนร่วมในการให้กำเนิดโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยคลี่คลายความทุกข์ของพี่น้องประชาชนให้มีชีวิตกลับมาสดชื่นสวยงาม ดั่งคูณสายรุ้งที่กำลังบานสะพรั่งอย่างงดงาม เหมือนจิตใจผู้ที่ถูกขนานนามว่าสายรุ้ง ซึ่งนับเป็น " 1 ใน 9 สิ่งสำคัญสัมพันธ์ฝนหลวง" นั่นเอง

.

#ความศรัทธานำความสำเร็จ
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด
.
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ