เปลี่ยนการแสดงผล
14ปีแห่งความพากเพียร
5 พฤษภาคม 2563 886 ครั้ง

#14ปีแห่งความพากเพียร

นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ที่ในหลวงร.9 ทรงมีแนวคิดที่จะทำโครงการฝนหลวง และต่อมาได้พระราชทานแนวทางให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง และทำการค้นคว้าวิจัยควบคู่ไปด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง เนื่องจากในช่วงแรกยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล

จนมาปี 2512 ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ นำความขึ้นกราบทูลในหลวงร.9 ว่าพร้อมที่จะค้นคว้าทดลองในอากาศได้ เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าวสนับสนุนเครื่องบินพร้อมนักบินที่ใช้ในงานฉีดพ่นยาปราบศัตรูพืชมาใช้ทดลอง

พระองค์ทรงเลือกพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ในช่วงฝนทิ้งช่วงเป็นพื้นที่ทดลอง และวางแผนดำเนินการแบ่งเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรก ระหว่างวันที่ 1 -2 กรกฎาคม 2512 เป็นช่วงสำรวจพื้นที่เป้าหมาย

ช่วงที่ 2 ระหว่าง วันที่ 19-20 กรกฎาคม 2512 ปฏิบัติการค้นคว้าทดลองจริง โดยใช้เครื่องบินcessna 180 จำนวน 2 เครื่อง เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียว ขนาด 170 แรงม้า ไม่มีระบบปรับความดัน

การทดลองปฏิบัติจริงในท้องฟ้าเกิดขึ้น หลังจากเครื่องบิน ขึ้นบินจากสนามบินของหน่วยรบพิเศษ กองทัพบก ที่ต.หนองตะกู อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีขนาดทางวิ่งในการบินขึ้น-ลง ทั้งแคบและสั้น ตั้งอยู่ในระหว่างซอกเขา การขึ้นลงค่อนข้างลำบากในระหว่างที่มีกระแสลมแปรปรวน และกระโชกแรง นับเป็นสนามบินที่เสี่ยงภัยมากสนามบินหนึ่ง

ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2512 การทดลองโปรยสารด้วยน้ำแข็งแห้ง ถูกเลือกเป็นสารฝนหลวงตัวแรก ได้ดำเนินการ 3 เที่ยวบินด้วยกัน

เที่ยวบินแรกโปรยทับยอดเมฆที่ระดับ 6,000 -8,000 ฟุต บางครั้งต้องบินเข้าเมฆเพื่อไปโปรยในระดับ 8,000 ฟุต แต่เมฆยังไม่หนาแน่นมาก ยังสว่าง และไม่ปรากฏว่ามีหยดน้ำเกาะที่กระจกกระจังหน้าเครื่องบิน ทำให้บินได้สบาย

การโปรยเที่ยวที่ 2 ตามไปโปรยเมฆกลุ่มแรก ที่ลอยไปตามทิศทางลม และกระแสความเร็วลมห่างออกไปจากจุดเดิมประมาณ 5 กม. และต้องปรับระดับเพดานบินให้สูงขึ้น เพื่อโปรยทับยอดเมฆเดิมที่พัฒนาตัวสูงขึ้นเป็น 8,000-10,000 ฟุต ทำให้ต้องบินเข้าเมฆมากขึ้น สภาพเมฆเริ่มแน่นขึ้น ทึบแสงมากขึ้น เริ่มมีละอองน้ำขนาดเล็กเกาะที่กระจกกระจังหน้าของเครื่องบิน เครื่องบินเริ่มมีอาการสั่นสะเทือน โยนตัวขึ้นลงรู้สึกได้มากขึ้น

การโปรยครั้งที่ 3 บินกลับทับเส้นทางครั้งที่ 2 ซึ่งเคลื่อนตัวไปทางใต้ลมประมาณ 5 กม. เช่นกัน ในเที่ยวนี้ ยอดเมฆสูงระดับ 12,000 - 15,000 ฟุต ทำให้ต้องเสี่ยงบินเข้าเมฆไปโปรยทับยอดเมฆต่ำกว่า 12,000 ฟุตถึง 12,000 ฟุต และโปรยในเมฆที่ยอดเมฆสูงเกิน 12,000 ฟุตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นเครื่องบินไม่สามารถปรับความดันจะบินสูงกว่านี้ไม่ได้ เที่ยวนี้เมฆทึบแสงยิ่งขึ้น ยอดเมฆเริ่มเป็นสีเทาเข้ม ฐานเมฆเป็นสีเทาเกือบดำ เม็ดน้ำที่จับกระจังหน้าของเครื่องบินมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหยดฝน เครื่องบินมีอาการสั่นสะเทือน และโยนตัวขึ้นลงรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนนักวิชาการลอยขึ้นจากที่นั่งศีรษะกระทบกับเพดานเครื่องบินบ่อยครั้ง

การทดลองครั้งนี้ถือว่าประสพผลสำเร็จ กลุ่มเมฆที่ไปทดลองลอยเคลื่อนตัวผ่านสนามบินไปทำให้ยอดเขาบังฐานเมฆ แต่ในวันรุ่งขึ้นได้สอบถามประชาชนในพื้นที่พบว่ามีฝนตกจากกลุ่มเมฆเหล่านั้น แต่ก็แลกกับเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น

เครื่องบินที่นำมาใช้ทดลองในครั้งนี้ ไม่ได้รับอนุญาตให้เจาะท้องเครื่องบิน เพื่อติดตั้งกรวยโปรยสารอย่างเครื่องบินที่ใช้ในปัจจุบัน ทำให้ต้องโปรยน้ำแข็งแห้งทางหน้าต่าง ในบางครั้งความแปรปรวนสภาพอากาศในเมฆทำให้น้ำแข็งแห้งที่โปรยออกไปย้อนกลับเข้ามาในเครื่อง จนเกิดอุบัติเหตุกับม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เกล็ดน้ำแข็งแห้งกระเด็นเข้าหู สร้างความเจ็บปวดยิ่งนัก แต่ด้วยการรอคอยมากว่า 14 ปี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ก็อดทนเพื่อจะทดลองให้สำเร็จ นับว่าเป็นการรอคอยที่ยาวนาน แต่คุ้มค่ามากในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ ณ สนามบินหนองตะกูครั้งนั้น ถือเป็นจุดกำเนิดโครงการต้นแบบในการค้นคว้าวิจัยฝนหลวงต่อมาจนสำเร็จ จึงเป็น 1 ใน 9 สิ่งสำคัญสัมพันธ์ฝนหลวงนั่นเอง...

#ความอดทนและพากเพียรนำมาซึ่งความสำเร็จ
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ