เปลี่ยนการแสดงผล
#มหามงคลแด่ทีมล่าเมฆ
7 พฤษภาคม 2563 744 ครั้ง

#มหามงคลแด่ทีมล่าเมฆ

เครื่องบินเป็นอุปกรณ์สำคัญในการที่นำทีมปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นไปทำฝน เรื่องราวของเครื่องบินในการทำฝนเริ่มต้นจาก เครื่องบิน 2 ลำแรก ที่ใช้ทดลองปฏิบัติบนอากาศครั้งแรก ปี2512 ที่สนามบินหนองตะกู เป็นเครื่องบินที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียว เซสน่า180 ไม่มีการเจาะท้องเพื่อติดตั้งกรวยโปรยสาร

การทดลองต่อมาในปี 2512-2513 ที่สนามบินบ่อฝ้ายได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าวจำนวน 3 เครื่อง คือ เครื่องบินไอร์แลนด์เดอร์ 2 เครื่องยนต์ จำนวน 1 ลำ เครื่องบิน เซสน่า180 เครื่องยนต์เดียว 2 ลำ และกระทรวงเกษตรฯจัดซื้อเพื่อภารกิจทดลองนี้เป็นเครื่องบินแอร์ทรัค เครื่องยนต์เดียว จำนวน 1 ลำ และเป็นเครื่องบินที่ในหลวงร.9 ได้ทรงเจิมเป็นลำแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2514 ณ สนามบินบ่อฝ้าย จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในปี2514 การค้นคว้าทดลองยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีพระบรมราโชบายในช่วงครึ่งปีแรกให้ตั้งฐานที่สนามบินขอนแก่น ทุกวันที่ 3-5 ของทุกเดือน โดยกำหนดให้ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เป็นพื้นที่เป้าหมาย ทุกวันที่ 22-24 ของเดือน ให้ตั้งฐานที่สนามบินเขื่อนภูมิพล โดยมีลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลเป็นพื้นที่เป้าหมาย ช่วงวันที่เหลือของเดือนให้ย้ายกลับมาตั้งฐานที่สนามบินบ่อฝ้าย โดยมีลุ่มรับน้ำเพชรบุรี และลุ่มรับน้ำชายฝั่งทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่เป้าหมาย

ปี 2514 ช่วงเดือนกรกฎาคม ได้เกิดฝนทิ้งช่วงยาว เกิดสภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงในภาคกลางตอนบน ภาคใต้ตอนบน และตอนล่าง ชาวนาจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ ประสบภาวะแห้งแล้งจนถึงขั้นวิกฤตต้นข้าวกำลังยืนต้นตายและขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ถ้าไม่ได้รับน้ำฝนภายใน 7 วัน ต้นข้าวจำนวนรวมกันกว่า 330,000 ไร่ ต้องเสียหายอย่างสิ้นเชิง และทั้งสองจังหวัดจะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคยิ่งขึ้น ชาวนาทั้งสองจังหวัดได้ร่วมกันทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอให้ช่วยทำฝน เนื่องจากทราบข่าวความสำเร็จในการทดลองทำฝนที่ผ่านมา

ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้น ด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณ รวมทั้งความห่วงใยในความทุกข์ร้อนของพสกนิกร จึงให้ทีมค้นคว้าทดลองตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบินนครสวรรค์ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2514 และได้ใช้เกลือแป้งเป็นการทดลองครั้งแรก

ข่าวการทดลองพร้อมปฏิบัติการหวังผล ส่งผลสำเร็จจนข่าวแพร่กระจายไปทั่วเป็นเหตุให้จังหวัดอื่นๆต่างทูลเกล้าฯถวายฎีกา ขอความช่วยเหลือ จึงได้มีการตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบินทหารบก จ.ราชบุรี ช่วง 13-20 สิงหาคม 2514 สนามบินนครสวรรค์ ช่วง 21-30 สิงหาคม 2514 สนามบินหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ช่วง 1-8 กันยายน 2514 สนามบินสงขลา ช่วง 11-18 กันยายน 2514 สนามบินบ่อฝ้าย ช่วง 22-30 กันยายน 2514 สนามบินนครศรีธรรมราช ช่วง 1-9 ตุลาคม 2514 และสนามบินนครสวรรค์อีกครั้ง ช่วง 20-23 ตุลาคมและ 31 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน 2514 ทำให้ทุกพื้นที่รอดพ้นจากความเสียอย่างสิ้นเชิง

ความแห้งแล้งต่อเนื่องมาในปี 2515 ทำให้หลายจังหวัดมีการทูลเกล้าฯถวายฎีกา ขอความช่วยเหลือ รวมทั้งชาวสวนผลไม้จ.จันทบุรี และระยอง ทำให้มีความจำเป็นต้องการเครื่องบินมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากทัพอากาศเป็นเครื่องบินดาโกต้าขนาดใหญ่ จำนวน 2 เครื่อง จากกองบินตำรวจ เป็นเครื่องบินปอร์ตเตอร์ขนาดเล็กจำนวน 2 เครื่อง และแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 2 คณะ คณะที่1 มีม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นหัวหน้าคณะ คณะที่ 2 มีในหลวงร.9 ทรงบัญชาการด้วยพระองค์เอง เนื่องจากนักวิชาการทำฝนในขณะนั้น ยังมีประสบการณ์และความชำนาญไม่เพียงพอ

ด้วยความศรัทธาในโครงการฝนหลวงที่ส่งผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ในปี 2515 ชาวสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 จึงจัดซื้อเครื่องบินแอร์ทรัคน้อมเกล้าถวายเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2515 ณ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร ต.พระแท่นดงรัง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี และในปีเดียวกันชาวจ.จันทบุรีได้รวบรวมเงินจำนวน 250,000 บาท นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อสมทบทุนโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นค่าใช้จ่ายโดยทั่วๆไปของโครงการจัดทำฝนเทียม

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2516 ในหลวงร.9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเจิมเครื่องบินของกองบินตำรวจ ที่นำมาสนับสนุนภารกิจฝนหลวง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน

การพัฒนาโครงการฝนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2517 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ใช้คำว่า ฝนหลวง แทน การค้นคว้าทดลองทำฝน และปฏิบัติการทำฝนหวังผลสืบมาจนปัจจุบัน

ต่อมาในปี 2518 คณะรัฐมนตรีได้ตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2518 และได้พัฒนามาเป็นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556

ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีเครื่องบินจำนวน 40 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินขนาดใหญ่จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลางจำนวน 15 ลำ เครื่องบินขนาดเล็กจำนวน 12 ลำ เครื่องบินแบบปรับความดันจำนวน 3 ลำ และเฮลิคอปเตอร์จำนวน 8 ลำ โดยยังต้องขอรับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศและกองทัพบกบางส่วน เนื่องจากปริมาณเครื่องบินและนักบินไม่สอดคล้องกับภารกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถึงแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแอร์ไลน์ไปทั่วโลก ทำการหยุดบินให้บริการ แต่ฝนหลวงแอร์ไลน์ยังคงบินอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุดเพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ ดั่งพระราชปณิธานของในหลวงร.9 และการสืบสาน รักษา ต่อยอด ของในหลวงร.10 สืบไป

การปฏิบัติงานฝนหลวงโดยใช้เครื่องบิน บินเข้าเมฆถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง แต่พวกเราชาวฝนหลวงมีกำลังใจและถือเป็นมงคลมาตลอดจากเครื่องบินทรงเจิมลำแรก และได้อนุรักษ์ตั้งอยู่หน้าหอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง(พิพิธภัณฑ์) ณ สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คุ้มครองให้พวกเราชาวฝนหลวงปฏิบัติงานด้วยความสำเร็จ ปลอดภัย

จึงนับว่าเครื่องบินแอร์ทรัค เครื่องบินทรงเจิมลำแรก เป็น 1 ใน 9 สิ่งสำคัญสัมพันธ์ฝนหลวงนั่นเอง...

#ความศรัทธาเป็นมหามงคลต่อชีวิต
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ