เปลี่ยนการแสดงผล
#มหัศจรรย์แก่งกระจาน
8 พฤษภาคม 2563 623 ครั้ง

#มหัศจรรย์แก่งกระจาน

ความสำเร็จในการดำเนินการค้นคว้าทดลองควบคู่กับการปฏิบัติการทำฝนหวังผลได้ถูกเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ

ปี 2515 ประเทศสิงคโปร์ประสบภาวะแห้งแล้งรุนแรงมาก อ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค มีปริมาณน้ำเหลือในอ่างเก็บน้ำน้อยเข้าขั้นวิกฤต เมื่อทราบข่าวเรื่องความสำเร็จการทดลองค้นคว้าการทำฝนของไทย รัฐบาลสิงคโปร์จึงขอส่งนักวิทยาศาสตร์ มาสังเกตการณ์ และขอรับถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

ด้วยพระเมตตาของพระองค์ท่าน จึงกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม 2515 เป็นวันปฏิบัติการสาธิตและเลือกเขื่อนแก่งกระจานเป็นพื้นที่เป้าหมาย และทรงพระกรุณารับบัญชาการปฏิบัติการสาธิตด้วยพระองค์เอง เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ในหลวงร.9 ทรงรับเป็นผู้บัญชาการในคณะที่ 2 ได้ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อช่วยเหลือภัยแล้งพื้นที่จ.เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 16-27 ตุลาคม 2515

การเลือกพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานเป็นพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการสาธิต เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกับเกาะสิงคโปร์ และพื้นที่อ่างเก็บน้ำนี้มีขนาดเล็กเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,162.5 ไร่ แสดงถึงความมั่นพระทัยของพระองค์

การปฏิบัติการสาธิตในครั้งนั้นพระองค์พระราชทานแผนปฏิบัติการสาธิต ผ่านข่ายวิทยุตำรวจจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เวลาประมาณ 01.00 - 02.00 น. ของวันที่ 19 ตุลาคม 2515 มายังคณะปฏิบัติการ เพื่อให้ปฏิบัติการสาธิตทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจแผนปฏิบัติการ ที่ได้รับพระราชทานอย่างถี่ถ้วน และสามารถปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการพระราชทานได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง โดยเริ่มปฏิบัติการได้ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนั้น

แผนปฏิบัติการสาธิตพระราชทานในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนด้วยกัน โดยใช้สารสูตร 1 (เกลือแป้ง)ในขั้นตอนที่ 1 เริ่มปฏิบัติการระหว่างเวลา 10.00 - 12.00 น.โดยใช้เครื่องบินคาลิบู โปรยที่ระดับ 8,500 ฟุต เป็นแนวยาว 60 กม. ขวางและตั้งฉากกับแนวทิศทางลม ห่างจากจุดศูนย์กลางอ่างเก็บน้ำประมาณ 60 กม. และใช้เครื่องบินสกายแวน โปรยสารสูตร 6 (ผงแคลเซี่ยมคลอไรด์)โปรยเป็นเส้นตรงแนวยาวใต้ลมของแนวโปรยแรก

ขั้นตอนที่ 2 เริ่มปฏิบัติการในช่วงเวลา 13.00 - 13.20 น. เป็นขั้นตอนเร่งการเจริญเติบโตของทั้งเมฆเกิดใหม่ และเมฆเดิมในขั้นตอนที่ 1 โดยใช้เครื่องบินคาลิบูโปรยผงแคลเซี่ยมคลอไรด์ทับยอดเมฆและในเมฆที่ระดับ 8,000 ฟุต และเครื่องบินแอร์ทรัค 3 ลำ บินหมู่โปรยเกลือแป้งทับยอดเมฆ เป็นแนวยาวใต้ลมขนานกับแนวโปรยเริ่มแรกของขั้นตอนที่ 1 ช่วยให้เมฆในขั้นตอนที่ 1 เจริญเติบโต และรวมกันมีขนาดใหญ่ขึ้น และเคลื่อนตัวตามทิศทางลมไปทางอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานยิ่งขึ้น ต่อมาเวลา 14.30 -14.50 น. ได้ดำเนินการซ้ำลักษณะเดิมอีกครั้งหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 3 ปฏิบัติการเวลา 15.40-16.15 น. โดยใช้เครื่องบินคาลิบู โปรยเกลือแป้งที่ระดับ 10,000 ฟุตที่ยอดเมฆ หรือไหล่เมฆ และใช้เครื่องบินสกายแวนโปรยสารสูตร 4 (ผงยูเรีย) ที่ระดับชิดฐานเมฆ หรือสูงกว่าฐานเมฆประมาณ 500-10,00 ฟุต โดยให้เครื่องบินทั้งสองทำมุมเยื้องกันประมาณ 45 องศาโปรยพร้อมกัน ไปในทิศทางเดียวกัน และความเร็วเท่ากัน พร้อมกับ
ใช้เครื่องบินแอร์ทรัคจำนวน 3 ลำโปรยสารสูตร 3 (น้ำแข็งแห้ง) โปรยเป็นวงกลมเข้ารอบจุดพิกัดศูนย์กลางอ่างเก็บน้ำ ที่ระดับต่ำกว่าฐานเมฆประมาณ 1,000 ฟุต กับกลุ่มเมฆแก่จัดที่เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ และกลุ่มเมฆแก่จัดกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ขอบอ่างเก็บน้ำ ทำให้ฐานเมฆลดต่ำลง และกลุ่มเมฆที่ขอบอ่างทยอยเคลื่อนตัวเข้ารวมตัวกันเป็นเมฆฝนกลุ่มใหญ่ยิ่งขึ้น ตกเป็นฝนในบริเวณเป้าหมายที่กำหนด

การปฏิบัติการสาธิตครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ทั้ง 3 นาย ได้รับการโปรดเกล้า เข้าร่วมฟังบรรยายสรุปของนักวิชาการประจำคณะปฏิบัติการสาธิตในช่วงเช้า เพื่อทราบแผนปฏิบัติการ และการกำหนดพื้นที่เป้าหมายหวังผล ตลอดจนโปรดเกล้าฯให้สังเกตการณ์การเตรียมสาร และร่วมขึ้นบินสังเกตการณ์การปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 1 ด้วย อีกทั้งยังได้สังเกตการณ์ตามที่พระองค์ทรงบัญชาการ การปฏิบัติการขั้นตอนที่ 2 และ 3 อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาอธิบาย ขั้นตอน กรรมวิธี และเทคนิคในการปฏิบัติการสาธิตครั้งนี้อย่างถี่ถ้วน

การปฏิบัติการสาธิตครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 5 ชม. ทำให้ฝนตกตรงพื้นที่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำสร้างความอัศจรรย์ใจและประทับใจ แก่นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ทั้ง 3 นาย ข้าราชบริพาร และพสกนิกรที่มารอเฝ้ารับเสด็จเป็นอย่างยิ่ง ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถ และตระหนักในความรู้ทางวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยาอย่างลึกซึ้งของพระองค์ท่าน

ต่อมารัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น"วันเทคโนโลยีของไทย"และพระองค์ทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย"

เมื่อวันศุกร์ ที่ 17 มกราคม 2557 พระองค์ท่านเสด็จ ฯ ไปยังเขื่อนแก่งกระจาน ทรงติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการเขื่อนแก่งกระจาน และทรงทอดพระเนตรการสาธิตการปฏิบัติการฝนหลวงจำลอง ณ บริเวณบ้านรับรองบนเขา พระองค์ได้ทรงอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับข้าราชบริพาร และผู้เข้าเฝ้ารับเสด็จ ทำให้ทรงพระเกษมสำราญเพราะสถานที่แห่งนี้ทรงเคยใช้เป็นที่ปฏิบัติการสาธิตการทำฝนในปี 2515

ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันเวลา 08.30 - 16.30 น. และวันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี ชาวฝนหลวง และพี่น้องประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเขื่อนแก่งกระจาน จะพร้อมใจร่วมกันทำพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ บริเวณดังกล่าว

ณ ดินแดนแห่งนี้พระองค์ได้สร้างความอัศจรรย์ใจในการบังคับให้เกิดฝนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ให้ชาวต่างชาติเห็นเป็นครั้งแรก ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระเมตตาของพระองค์ท่านที่มีต่อมวลมนุษยชาติ จึงนับได้ว่าเขื่อนแก่งกระจานเป็นอีก 1 ใน 9 ความสำคัญสัมพันธ์ฝนหลวงนั่นเอง...

#ความเมตตาไม่มีการแบ่งแยก
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด
.
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ