เปลี่ยนการแสดงผล
#เทคโนโลยีเสริมเขี้ยวเล็บ
9 พฤษภาคม 2563 457 ครั้ง

#เทคโนโลยีเสริมเขี้ยวเล็บ

การปฏิบัติการฝนหลวงเป็นการเลียนแบบธรรมชาติให้เกิดฝน ข้อมูลการตรวจสภาพอากาศชั้นบนประจำวัน มีความจำเป็นต้องถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ในการวางแผนการปฏิบัติงาน ในขณะเดียวกันการติดตามการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาตัวของเมฆ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่างๆต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมีความสำคัญเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้นำเทคโนโลยีเรดาร์มาประยุกต์ใช้งาน

สถานีเรดาร์อมก๋อย ต.เปียงยาง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ นับเป็นสถานีแรก โดยเป็นโครงการย่อยโครงการหนึ่ง ในโครงการวิจัยทรัพยากร บรรยากาศประยุกต์แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มอบเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ส่วนรัฐบาลไทยได้ ออกเงินสมทบโครงการด้วย สถานีเรดาร์ฝนหลวงสามารถสำรวจข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ในแบบข้อมูลความเข้ม และความเร็วของกลุ่มฝน ในรัศมี 120 กิโลเมตร ส่วนการสำรวจในสภาวะอากาศทั่วๆไป สามารถขยายผลการตรวจวัดได้ดีในรัศมีถึง 480 กิโลเมตร โดยทำการตรวจวัดทุกๆ 5 นาที ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2535 ในหลวงร.9 และพระราชินี เสด็จไปทรงเปิดสถานีเรดาร์ฝนหลวงแห่งนี้ โดยประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากภูพิงค์ราชนิเวศน์ มายังสนามหน้าที่ทำการอำเภออมก๋อย แล้วทรงขับรถยนต์พระที่นั่งขึ้นสถานีเรดาร์อมก๋อยระยะทางประมาณ 12 กม. ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา และทอดพระเนตรระบบเรดาร์ฝนหลวง

ในโอกาสนี้ทรงมีพระราชดำริ ความว่า "ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบรรยากาศจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งนักวิชาการอาสาสมัคร ที่มีความสนใจจะต้องร่วมมือประสานงานกันอย่างใกล้ชิดสอดคล้อง และต่อเนื่องในการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน อย่างทันเหตุการณ์ เพื่อป้อนข้อมูลที่จำเป็นในการวิจัย และปฎิบัติการทำฝนหลวง ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการบรรเทาภัยแล้งของพื้นที่เป้าหมาย ในระยะยาวโดยบังคับให้ฝนตกลง ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลในลุ่มแม่น้ำปิง และอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ในลุ่มแม่น้ำน่าน จะได้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ช่วยเหลือราษฎรอย่างพอเพียง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการสำรวจทางภาคพื้นดินอย่างจริงจัง เพื่อพิสูจน์ว่าฝนตกลงบนพื้นที่ที่กำหนดไว้จริง ตามที่คำนวณไว้ล่วงหน้า "

การเสด็จครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ทรงปลูก ต้นแมคคาเดเมียไว้เป็นที่ระลึกด้วย และได้ทรงประทับพระอริยาบถตามพระราชอัธยาศัย ณ พลับพลาที่ประทับก่อนเสด็จกลับ

ต้นแมคคาเดเมีย ทรงปลูกปัจจุบัน ได้เจริญเติบโตงดงามเป็นอย่างมาก และพลับพลาที่ประทับได้อนุรักษ์ พร้อมจัดนิทรรศการให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันในเวลา 08.30-16.30 น.

ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีสถานีเรดาร์หลักจำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ สถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี สถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์แบบเคลื่อนที่อีก 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ สถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี สถานีเรดาร์ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สถานีเรดาร์หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร

กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการให้บริการข้อมูลเรดาร์ กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ และการทำวิจัยร่วมกัน ตลอดจนพัฒนาอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ เพื่อช่วยวัดปริมาณฝนในพื้นที่ทำให้ทราบปริมาณฝนจากการทำฝนมีปริมาณมากน้อยเพียงใด สอดคล้องกับการประเมินจากเรดาร์หรือไม่ เพื่อสนองพระราชดำรัสของในหลวงร.9

สถานีเรดาร์อมก๋อย เป็นสถานีแรกที่นำเทคโนโลยีเรดาร์มาประยุกต์ใช้ในการเสริมประสิทธิภาพการทำฝนหลวง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงร.9 และพระราชินี ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย อีกทั้งทรงปลูกต้นแมคคาเดเมีย เพื่อเป็นที่ระลึกอีก ด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แด่ชาวฝนหลวง จึงนับได้ว่าสถานีเรดาร์อมก๋อย เป็นอีก 1 ใน 9 ความสำคัญสัมพันธ์ฝนหลวงนั่นเอง...

#ที่ระลึกในอดีตเป็นกำลังใจให้ปัจจุบัน
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด

 

 

ภาพและวีดีโอ