เปลี่ยนการแสดงผล
ไขภาพการ์ตูนในตำราฝนหลวงพระราชทาน ตอนที่ 2
14 พฤษภาคม 2563 518 ครั้ง
ภาพการ์ตูนที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์บรรจุอยู่ในเพียง 1 หน้ากระดาษซึ่งสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือมากกว่า 1 หน้ากระดาษ ด้วยพระอัจริยภาพของพระองค์ ได้อธิบายขั้นตอนการปฏิบัติการฝนหลวง 3 ขั้นตอน สำหรับการทำฝนเมฆอุ่น คือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี ใน 3 แถวแรกที่กล่าวมาแล้ว ยังเหลืออีก 3 แถว ในแต่ละแถวมีความหมายอย่างไร ลองมาติดตามกันต่อครับ
แถวที่ 4 เป็นการเสริมการโจมตีในขั้นตอนที่ 3 เพื่อให้ฐานเมฆลดระดับต่ำลงใกล้พื้นที่เป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตกมากยิ่งขึ้น โดยโปรยสารสูตรเย็น น้ำแข็งแห้ง ( dry ice ) ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าระดับ -78 องศาเซลเซียส ที่ระดับต่ำกว่าใต้ฐานเมฆ 1,000 ฟุต ในขณะที่กลุ่มเมฆฝนตามขั้นตอนที่ 3 กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย จะทำให้อุณหภูมิของมวลอากาศใต้ฐานเมฆลดต่ำลง และทำให้ความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้น และชักนำให้กลุ่มฝนเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผลได้แน่นอน และเร็วขึ้น นั่นคือเมฆยิ่งต่ำใกล้พื้นที่เป้าหมายมากเท่าไร ก็ยิ่งได้ปริมาณฝนมากขึ้นเท่านั้น เพราะลดระยะทางการเสียดสีกับอากาศส่วนหนึ่ง และลดการคลาดเคลื่อนของฝนที่ตกในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากแรงลมอีกด้วย
แถวที่ 5 เป็นการโจมตีเมฆเย็น เมฆเย็นเป็นเมฆที่เกิดการพัฒนาตัวยอดเมฆสูงกว่าระดับ 20,000 ฟุต ส่วนที่เป็นเมฆเย็นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 18,000 ฟุต ขึ้นไป และอุณหภูมิในก้อนเมฆต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส โดยใช้เครื่องบินแบบปรับความดันยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่ระดับความสูงประมาณ 21,500 ฟุต ซึ่งมีอุณหภูมิระดับ -8 ถึง -12 องศาเซลเซียส มีกระแสมวลอากาศลอยขึ้นกว่า 1,000 ฟุตต่อนาที และมีปริมาณน้ำเย็นจัดไม่ต่ำกว่า 1 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเงื่อนไขเหมาะสมที่จะทำให้ไอน้ำจากเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด (super cooled vapour) มาเกาะตัวรอบแกน ซิลเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่งมีผลึกรูปร่างคล้ายผลึกน้ำแข็ง เป็นการหลอกให้ไอน้ำระเหยจากเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวดมาเกาะมากขึ้น รวดเร็วขึ้นกลายเป็นผลึกน้ำแข็งขนาดใหญ่ขึ้นจนร่วงหล่นลงมา และละลายเป็นเม็ดฝนเมื่อเข้าสู่ระดับเมฆอุ่นทีมีอุณหภูมิมากกว่า 0 องศาเซลเซียส และจะทำให้ไอน้ำและเม็ดน้ำในเมฆอุ่นเข้ามาเกาะรวมตัวกันเป็นเม็ดใหญ่ขึ้น ทะลุฐานเมฆเป็นฝนตกลงสู่พื้นดิน ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตรใช้เทคนิคการโจมตีเมฆเย็นประยุกต์ใช้ในการสลายลูกเห็บ โดยทำให้กลุ่มเมฆเย็นตกเป็นฝนก่อนพัฒนาตัวไปเป็นลูกเห็บ
แถวที่ 6 เป็นการโจมตีแบบ super sandwich เป็นการโจมตีเมฆอุ่นในขั้นตอนที่ 3 ด้วยเทคนิค sandwich ควบคู่กับการโจมตีเมฆเย็นควบคู่กันไปในขณะเดียวกัน ซึ่งจะต้องใช้เครื่องแบบไม่ปรับความดัน และแบบปรับความดันปฏิบัติการร่วมกัน นักบินต้องประสานงานกันอย่างดี จะทำให้ฝนตกหนัก และต่อเนื่องนานและได้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า super sandwich ด้วยเทคนิคนี้เป็นเทคนิคใหม่ของโลกจึงได้มีการจดสิทธิบัตร และได้รับรางวัลในระดับโลกด้านสิ่งประดิษฐ์มากมาย
ภาพด้านล่างสุด 4 ภาพ มีการสื่อสารเพื่อเตือนสติให้มีความพยายาม ความสามัคคี และการพัฒนา
ภาพแรกเป็น การแห่นางแมว เนื่องจากแมวกลัวน้ำจึงนำแมวมาแห่ ซึ่งเป็นพิธีกรรมในการขอฝนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นพิธีกรรมด้านจิตวิทยาเพื่อบำรุงขวัญให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่มีกำลังใจ ในยามที่เกิดฝนแล้งเกิดความเดือดร้อน
ภาพที่2 ภาพเครื่องบินบินเข้าเมฆ แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติการฝนหลวงต้องกล้าบินเข้าเมฆ โดยเครื่องบินต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสภาพอากาศด้วย และนักบินกับนักวิชาการฝนหลวงต้องร่วมมือกัน
ภาพที่ 3 ภาพกบเลือกนายหรือขอฝน ทรงอธิบายว่า ท่านต้องจูบกบหลายตัว ก่อนที่จะพบเจ้าชายเพียงหนึ่งองค์ แสดงให้เห็นถึง ต้องมีความพยายามทำซ้ำหลายๆครั้ง เพื่อให้เกิดฝน ได้สักครั้ง เพราะกบเรียกฝน ต้องการฝน ถ้าไม่มีฝน กบและเกษตรกรเดือดร้อน
ภาพที่ 4 บ้องไฟ เป็นประเพณีเรียกฝนที่มีมาแต่โบราณโดยการยิงบ้องไฟขึ้นไปที่ระดับสูงในอากาศ และระเบิดปล่อยควัน เป็นแกนให้ความชื้นมาเกาะรอบแกนควัน ทำให้เกิดเมฆเกิดฝน ในขณะที่ประเทศยุโรปมีการใช้ปืนใหญ่ยิงเพื่อยับยั้งลูกเห็บไม่ให้ตกลงมาทำความเสียหายกับไร่องุ่น เป็นการสลายลูกเห็บให้ตกมาเป็นฝน บ้องไฟทำหน้าที่แทนเครื่องบินที่เป็นพาหะนำเทคโนโลยีฝนหลวงขึ้นไปทำฝนบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นการสื่อสารให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการทำฝนต่อไป
ด้วยความมีพระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยในการคลายทุกข์จากความเดือดร้อนเรื่องน้ำ พระองค์ทรงมีพระวิริยะในการคิดค้นโครงการฝนหลวงและทรงประดิษฐ์ตำราฝนหลวงเป็นภาพการ์ตูนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าใจง่าย และทรงได้รับการน้อมเกล้าฯถวายรางวัลและพระเกียรติคุณทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากมาย ยังความซาบซึ้งและปลาบปลื้มอันหาที่สุดมิได้ต่อปวงชนชาวไทยและชาวโลกสืบไป.
ภาพและวีดีโอ