เปลี่ยนการแสดงผล
#RxR = R ยกกำลังสอง
28 พฤษภาคม 2563 558 ครั้ง

#RxR = R ยกกำลังสอง
  การแข่งขันวิ่งผลัดเช่น วิ่งผลัด 4x100 ม. นักวิ่งแต่ละคนในทีมต้องใช้ศักยภาพของตนเอง นักวิ่งไม้แรกจะต้องเป็นนักวิ่งที่มีศักยภาพในการออกตัวที่ดี ส่วนนักวิ่งไม้สุดท้ายต้องเป็นนักวิ่งที่สามารถเร่งฝีเท้าได้ดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้น นักวิ่งทุกคนต้องมีการประสานความร่วมมือที่ดีโดยเฉพาะตอนเปลี่ยนไม้ผลัด ในทำนองเดียวกันการทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกัน หากมีการประสานงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนที่ดีแล้ว ผลลัพธ์ย่อมออกมาดีที่สุดแน่นอน ดังเช่นแหล่งน้ำที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกิน การใช้ทำกิจกรรมต่างๆในครัวเรือน การเกษตร การอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศน์ จะมาจาก 3 แหล่งด้วยกัน คือ น้ำบนฟ้า น้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน การบริหารจัดการแหล่งน้ำเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องมีการประสานงานร่วมกันทุกภาคส่วน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานจะรับผิดชอบแหล่งน้ำที่ต่างกัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำบนฟ้า กรมชลประทานรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำบนดิน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน ในขณะเดียวกันผู้ใช้น้ำต้องให้ความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย ยิ่งในปัจจุบันสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมาซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลก (climate change) ส่งผลให้ปริมาณฝนเฉลี่ยต่ำกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยปกติ และปริมาณน้ำในเขื่อนมีปริมาณค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ ปี 2559 กรมฝนหลวงฯเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือกับกรมชลประทาน ภายใต้โครงการ Rยกกำลัง2 เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ทุกภาคส่วนมีการประสานงานร่วมกัน โดยเลือกพื้นที่โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินการ  หลายๆท่านคงสงสัยว่าแล้วทำไมต้องเป็น R ยกกำลัง2 (RxR) ด้วยใช่มั้ยครับ R นั้นย่อมาจากคำว่า Royal ซึ่งทั้งกรมฝนหลวงฯและกรมชลประทาน ชื่อกรมที่เป็นภาษาอังกฤษคือ Department of Royal Rainmaking and Agricultural Aviation (DRRAA) และ Royal Irrigation Department(RID) เป็นกรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงก่อตั้ง โดยในหลวงร.5 ทรงก่อตั้งกรมชลประทาน และ ในหลวงร.9 ทรงก่อตั้งกรมฝนหลวงฯ จึงมีคำว่า Royal นำหน้าชื่อกรมนั่นเอง
  เขื่อนป่าสักชลประสิทธิ์ ตั้งอยู่ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นเขื่อนดินแกนดินเหนียว ขนาดยาว 4,860 ม. สูง 31.5 ม. ขนาดความจุอ่างเก็บน้ำ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นเขื่อนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยสามารถส่งน้ำสนับสนุนเพื่อการอุปโภค บริโภค ในชุมชน จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร และช่วยในการรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็ม ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนการส่งน้ำเพื่อการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม ในระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้อย่างทันท่วงทีมากกว่าที่จะรอน้ำที่มาจากแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ทางภาคเหนือที่เชื่อมต่อลงมาถึงลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ และเขื่อนแควน้อย ซึ่งจะใช้เวลาในการเดินทางของน้ำจากเขื่อนเหล่านั้น มากกว่าการนำน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาใช้ในกิจกรรมดังกล่าว ภายใต้โครงการนี้ในส่วนของกรมฝนหลวงฯมีความรับผิดชอบในการเติมน้ำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ช่วงเดือนพฤษภาคม - กันยายน 2559 และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตร ภายใต้โครงการป่าสักชลสิทธิ์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2559 ส่วนกรมชลประทาน เป็นผู้กำหนดเป้าหมายสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง และตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าเขื่อน ตลอดจนตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานภายใต้โครงการป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยปรับการส่งน้ำหลังจากมีฝนตกในพื้นที่แล้ว เพื่อให้มีการเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ปี 2559 กรมฝนหลวงฯได้ดำเนินการขึ้นบินปฏิบัติฝนหลวงให้โครงการจำนวน 86 วัน มีวันฝนตกจำนวน 76 วัน คิดเป็น 88.37 % จาก 3 หน่วยปฏิบัติการได้แก่ หน่วยที่ จ.นครสวรรค์ พิษณุโลก และลพบุรี สามารถเติมน้ำให้เขื่อนปริมาณ 168.60 ล้านลูกบาศก์ คิดเป็น 12.91 % จากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนทั้งหมดจำนวน 1,305.98 ล้านลูกบาศก์เมตร นับว่าเป็นการดำเนินการแบบการประสานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเก็บกัก ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 991 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 103% ของความจุเก็บกัก ซึ่งสามารถใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ โดยมีนายมารุต ราชมณีเป็นผู้ประสานงานและกำกับโครงการนี้ร่วมกับทีมนักล่าเมฆลุ่มเจ้าพระยา
  การดำเนินการลักษณะเช่นนี้ยังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยปี2563 ได้ดำเนินการขึ้นบินปฏิบัติการไปแล้วจำนวน 34 วัน จำนวน 176 เที่ยวบิน มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 0.241 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทีมนักล่าเมฆลุ่มเจ้าพระยาประกอบด้วย นายขวัญชัย เพ็ชรกลับ ว่าที่ร.ต.วงศกฤต ช่างปรีชา และนายภาณุวงศ์ วงษ์นิ่ม โดยเป็นการร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงฯและกองทัพบก โดยมีทีมนักบินฝนหลวง ประกอบด้วย ร.อ.รณชัย ยอดไกรศรี พ.ต.บุณถม หางแก้ว นายเทพศิรินทร์ บำรุงผล นายสุเชษฐ พัฒนปัญจกุล นายพชร ขัตติโยทัยวงศ์ นายศิลา ตันไพบูลย์ และนายสุขกมล วุฒิศิลป์
ทีมนักบินกองทัพบก ประกอบด้วย พ.อ.กริช กิจสมชีพ พ.ท.ชูพงษ์ โอบอ้อม พ.ต.จาตุรนต์ ประดิษฐ์ผล พ.ต.ภูวนาถ กำมะหยี่ ร.อ.กฤช ประชาญสิทธิ์ ร.อ.นันทพล ไตรมงคลวิวัฒน์ ร.อ.ศุภโชค ใจอารีย์ ร.ต.ชนะชัย จันทร์สด และร.ต.ณัฐวุฒิ กอบกระโทก
  การดำเนินการในปีนี้เป็นการประสานงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนมากขึ้น โดยจากเดิมเป็นความร่วมมือแค่เพียงกรมฝนหลวงฯกับกรมชลประทาน แต่คราวนี้กองทัพบกได้เสริมสรรพกำลังเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับทีมนักล่าเมฆลุ่มเจ้าพระยามากขึ้น ซึ่งทั้งสามหน่วยงานชื่อหน่วยงานเป็นภาษาอังกฤษเริ่มต้นด้วย Royal ทั้งสามหน่วยงาน นั่นหมายความว่าทั้งสามหน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่เกิดจากพระเจ้าแผ่นดินก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนกันอย่างเต็มที่
#โซ่ที่ดีต้องไม่มีข้อต่อการทำงานที่ดีต้องไม่มีช่องว่าง
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

ภาพและวีดีโอ