เปลี่ยนการแสดงผล
#รางวัลแห่งความพากเพียร
1 มิถุนายน 2563 456 ครั้ง

#รางวัลแห่งความพากเพียร
  หากพูดถึงคำว่า "มหาชนก" จะนึกถึงอะไรกันบ้างครับ บางท่านคงนึกถึงพันธุ์มะม่วง เป็นมะม่วงที่มีเปลือกค่อนข้างหนา เนื้อค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นหอมแรง เหมาะในการทานสุก เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทองอร่ามแต้มด้วยสีแดง เหมือนสาวๆปัดแก้มด้วยบรัชออนสีแดงระเรื่อ ด้วยการที่มีเปลือกค่อนข้างหนาและเนื้อค่อนข้างแข็งจึงเหมาะในการส่งออก เพราะจะรักษาคุณภาพได้ดีกว่ามะม่วงที่มีผิวบางและเนื้อนุ่มในการขนส่งในขณะที่บางท่านจะนึกถึงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกของในหลวงร.9 ซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดก เป็นเรื่องการบำเพ็ญความเพียรเป็นบารมีของพระโพธิสัตว์ก่อนจะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงค้นคว้าจากพระไตรปิฎกและมีการแปลในหลายภาษา และดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น และแผนที่ฝีพระหัตถ์ แสดงสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณบางแห่ง และข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับทิศทางลม กับกำหนดวันเดินทะเลตลอดจนจุดอัปปางของเรืออับโชค ทรงคาดคะเนโดยอาศัยข้อมูลทางโหราศาสตร์ แสดงถึงพระปรีชาในด้านอักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และโหราศาสตร์ไทย ในพระราชนิพนธ์ทรงบรรยายในความเพียรของพระมหาชนกที่ได้ออกเรือไปยังสุวรรณภูมิ เพื่อจะไปเอาราชสมบัติคืนจากพระโปลชนก แห่งเมืองมิถิลานคร แต่ระหว่างทางในมหาสมุทรเรือต้องพายุล่มลง ลูกเรือตายหมดยังแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน จนได้พบนางมณีเมขลา ในที่สุดนางมณีเมขลาได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังเมืองมิถิลานคร ฝ่ายมิถิลานคร พระโปลชนกได้สวรรคตเหลือเพียงพระราชธิดานาม"สีวลีเทวี" ก่อนสวรรคตทรงตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ทั้ง สิบหกไว้สำหรับผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ไม่มี ผู้ใดไขปริศนาได้ เหล่าอมาตย์จึงได้ประชุมกันแล้วปล่อยราชรถ ราชรถก็แล่นไปยังที่มหาชนกบรรทมอยู่ เหล่าอมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ และอภิเษกกับสีวลีเทวี ทรงไขปริศนาต่างๆ ได้ และทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ตราพระมหาชนกถูกนำมาเป็นตัวแทนแห่งความพากเพียร พยายามและวิริยะ พระราชทานแก่ชาวคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้งในปี2542 ซึ่งบ้านเราประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ในหลวงร.9 โปรดเกล้าฯให้ตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้งขึ้น โดยตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบินนครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 15 เมษายน 2542 และสนามบินกองบิน 46 ของกองทัพอากาศ จ.พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ - 15 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำเพราะอยู่ในช่วงฤดูหนาว จึงโปรดเกล้าฯให้ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาปฏิบัติการควบคู่กันไปด้วย ทำให้ต้องมีการบินสำรวจค้นหาเมฆ เพื่อทำฝนจากกลุ่มเมฆนั้น มีการบินวิจัยตรวจสภาพอากาศทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อศึกษาและหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติการ และขยายช่วงเวลาการบินปฏิบัติการตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงหลังตะวันตกดินแล้ว 
  จะเห็นได้ว่าผู้ปฏิบัติงานในคณะฝนหลวงพิเศษในปี 2542 จะต้องมีความพากเพียร พยายาม และวิริยะในการปฏิบัติงานเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้งให้ประชาชนเป็นอย่างมาก ด้วยพระเมตตาของพระองค์จึงทรงพระราชทานตราพระมหาชนกติดหน้าอกแก่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
  หลังจากปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเสร็จสิ้นลง พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำนักวิชาการและนักบิน ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษทั้งสองคณะ เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชอรรถาธิบาย ตำราฝนหลวง และรับพระราชทานเหรียญพระมหาชนกอันเป็นสัญญลักษณ์แห่งความพากเพียร พยายาม และวิริยะ ณ พระตำหนักจิตรลดาฯ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2542  นายปนิธิ เสมอวงษ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หนึ่งในผู้ปฏิบัติงานในปี 2542 และได้รับพระราชทานเหรียญพระมหาชนก เล่าให้ฟังด้วยความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ถือว่าเป็นที่สุดในชีวิตราชการ และเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานมาจวบจนปัจจุบันตราพระมหาชนกจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของพระองค์ท่านที่พระราชทานให้ชาวกรมฝนหลวงมีความพากเพียร พยายาม และวิริยะ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างสุดกำลังความสามารถโดยมิย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรคใดๆ
#บนพื้นฐานแห่งความรักความพากเพียรจะไม่จบสิ้น
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

ภาพและวีดีโอ