เปลี่ยนการแสดงผล
#แหล่งน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจชาวโคราช
2 มิถุนายน 2563 1,332 ครั้ง

#แหล่งน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจชาวโคราช
  จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช เป็นเมืองหน้าด่านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดว่าเป็นเมืองที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่มากถึง 20,493.964 ตร.กม. และมีประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศมีประชากรจำนวน 2,648,927 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 32 อำเภอ 289 ตำบล 3,743 หมู่บ้าน และมีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อมากมาย ทั้งภูเขา เขื่อนขนาดใหญ่ และฟาร์มต่างๆ เนื่องจากความได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม และสภาพอากาศเย็นสบายในช่วงฤดูหนาว เมืองใหญ่ๆทุกเมืองมีการใช้น้ำจำนวนมากตามจำนวนประชากร และกิจกรรมต่างๆในภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม
  นครราชสีมา อุดมไปด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญถึง 9 ลุ่มน้ำด้วยกัน ได้แก่  ลุ่มน้ำมูล  ลุ่มน้ำลำมาศตอนปลาย  ลุ่มน้ำลำมาศตอนต้น  ลุ่มน้ำจักราช  ลุ่มน้ำลำมูลบน - ลำพระเพลิง  ลุ่มน้ำลำตะคอง  ลุ่มน้ำเชียงไกร ลุ่มน้ำลำสะแทด  ลุ่มน้ำชี  และมีอ่างเก็บน้ำที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง - ลำสำลาย อ่างเก็บน้ำมูลบน - ลำแซะ อ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ - ห้วยเตย  อ่างเก็บน้ำขนาดกลางได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยซับประดู่ อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร อ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อีกจำนวนเกือบ 500 แห่ง ถึงแม้จะมีแหล่งน้ำจำนวนมากมาย แต่ชาวเมืองโคราชก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่เนืองๆ เขื่อนลำตะคอง นับเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญของ จ.นครราชสีมา ตั้งอยู่ ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว โดยมีเขื่อนดิน ขนาดสูง  40.3 ม.  ยาว  521 ม.  กั้นแม่น้ำลำตะคอง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ระหว่างเขาฟ้าผ่า  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา  กับเขาฝาละมี  อ.เมืองนครนายก  จ.นครนายก มีความจุเก็บกัก 310 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 137,500 ไร่ ซึ่งหล่อเลี้ยงประชากรถึง 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เฉลิมพระเกียรติ และอ.เมืองนครราชสีมา แม้เขื่อนลำตะคองจะอยู่ติดกับต้นน้ำอย่างเขาใหญ่ แต่ปริมาณน้ำก็ไหลลงเขื่อนไม่ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่หลายรายไม่มีน้ำใช้ที่เพียงพอในการทำการเกษตร เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลอง 3 สายหลักที่เป็นต้นน้ำไหลลงสู่เขื่อนลำตะคอง คือ คลองหินลับ คลองยาง และคลองลำตะคอง ระยะทางรวม 190 กิโลเมตร มีสิ่งกีดขวางลำน้ำรวมทั้งหมดมากกว่า 450 แห่ง ที่ประกอบไปด้วยขยะขวางทางน้ำ และฝายกั้นน้ำ กรมชลประทานผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ได้มีการประสานความร่วมมือจากกรมฝนหลวงฯในการทำฝนเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำลำตะคองเกือบทุกปี
ในปี 2562 กรมฝนหลวงฯโดยทีมนักล่าเมฆแดนอีสาน ณ จ.นครราชสีมา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการจำนวน 25 วัน จาก 142 เที่ยวบิน มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 23.29 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 มีปริมาณ 175.53 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 55.81 % ของความจุเก็บกัก ซึ่งถือว่ามีปริมาณไม่มากนัก ทำให้การใช้น้ำในฤดูแล้งต้องมีการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด
  ในปี 2563 กรมชลประทานได้ประสานขอความร่วมมือตั้งแต่เริ่มเปิดหน่วยล่าเมฆประจำปีตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 มีการบินปฏิบัติการไปแล้ว 37 วัน จากจำนวน 135 เที่ยวบิน มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 1.81 ล้านลูกบาศก์ จาก 3 ทีมนักล่าเมฆได้ผนึกกำลังกันตามสภาพของทิศทางลม ได้แก่ ทีมล่าเมฆแดนอีสาน จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย นายสุรพันธุ์ สุวรรณไพบูลย์ และ น.ส. เบญจวรรณ บุญสอง ทีมล่าเมฆแดนอีสาน จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย นายพุทธินันท์ สุกุมลจันทร์ และน.ส.จตุรภรณ์ ลีลานนท์ และทีมล่าเมฆลุ่มเจ้าพระยา จ.ลพบุรี ประกอบด้วย นายขวัญชัย เพ็ชรกลับ นายวงศกฤต ช่างปรีชา และนายภานุวงศ์ วงษ์นิ่ม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน จะเป็นช่วงฤดูแล้ง เกิดความแห้งแล้งไปทั่วทุกบริเวณ ดินแยกแตกระแหงเพราะขาดความชุ่มชื้น ฝนที่ตกลงมาในช่วงแรกจึงถูกดินเหล่านี้ดูดซับไปหมดจนกว่าดินเหล่านี้จะอิ่มตัวจึงจะทำให้เกิดน้ำไหลเข้าลำน้ำ เข้าเขื่อน ตามมา ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจึงมีปริมาณน้อยถึงแม้จะมีการขึ้นบินปฏิบัติการจำนวนมาก
  อย่างไรก็ตามการทำฝนใช่ช่วงแรกถือเป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อฝนที่ตกต่อมาจากทีมนักล่าเมฆจะได้ไหลเข้าเขื่อนได้ง่ายและปริมาณมากขึ้น แต่ยังคงอาจจะถูกดักน้ำที่เป็นสมบัติส่วนรวมบริเวณต้นน้ำที่เรียงรายไปด้วยรีสอร์ท สนามกอล์ฟ ฟาร์มขนาดใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการขาดแคลนน้ำของพี่น้องชาวโคราชนั่นเอง
#สมบัติส่วนรวม ไม่ควรเอามาเป็นสมบัติส่วนตน
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด

ภาพและวีดีโอ