เปลี่ยนการแสดงผล
#แค่เส้นบางๆ
19 มิถุนายน 2563 458 ครั้ง

#แค่เส้นบางๆ
  ทุกๆท่านในที่นี้คงมีประสบการณ์กันไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับความหวังดีของเรา แต่ดันกลายเป็นการสู่รู้ของคนที่เราหวังดีด้วย จริงๆแล้วมันก็เป็นเส้นบางๆครับระหว่างความหวังดีกับการสู่รู้ พูดง่ายๆถ้าการพูดหรือการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่เราพูดด้วย หรือกระทำด้วยก็จะเป็นความหวังดี ส่วนการพูดหรือการกระทำอะไรที่เราอยากจะพูด หรืออยากจะทำโดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องการ อยากจะอวด จะโชว์ว่ารู้ หรือจะต้องการให้คนอื่นกระทำตามก็จะเรียกว่าเป็นการสู่รู้นั่นเอง เช่น เราซื้อรถยนต์มาคันนึงเราประเมินแล้วว่าเรามีกำลังทรัพย์แค่ไหน วัตถุประสงค์ในการใช้งานแค่ไหน เรามีรายได้ไม่มากนัก รถที่ใช้แค่ในเมือง มีออกต่างจังหวัดบ้างแต่ไม่ต้องสมบุกสมบันที่ต้องขึ้นเขาลงห้วย 
เราจึงตัดสินใจซื้อตัวต่ำสุดของรุ่นแล้วกันเพราะราคาไม่สูงมาก ไม่ต้องซื้อตัวท้อปที่ขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่ดันมีผู้หวังดีมาเจอเราขับรถใหม่ก็ตรงเข้ามาเลยครับ แล้วกล่าวว่าทำไมไม่ซื้อตัวท้อปเพิ่มเงินอีกนิดหน่อยเอง เราก็อธิบายแล้วว่าเรามีเหตุผลอะไรก็ยังไม่ยอมหยุดพูด พูดอยู่นั่นว่าน่าเสียดายอย่างโน้นอย่างนี้ เฮ้อ อย่างนี้เรียกว่าสู่รู้จริงๆครับ คราวนี้เรามาลองฟังเกี่ยวกับการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่จะเป็นการหวังดีหรือสู่รู้กันนะครับ จากการที่เราทราบและพบเห็นกันอยู่เป็นประจำในปัจจุบันเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฝีมือมนุษย์และธรรมชาติเองที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาฝุ่นจิ๋วในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างๆ ปัญหาไฟไหม้ป่า หมอกควัน และภัยแล้ง ประชาชนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมักจะคิดถึงโครงการพระราชดำริฝนหลวง แต่การมำฝนหลวงนั้นเป็นการเลียนแบบธรรมชาติทำให้เกิดฝนย่อมมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเงื่อนไขของสภาพอากาศ
  ดังที่เราทราบกันดีครับ การปฏิบัติการฝนหลวงจะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนที่1 ขั้นก่อกวนหรือก่อเมฆซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญตัวหนึ่งในการพิจารณาคือความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต้องมีค่ามากกว่า 60% เพื่อให้ผงโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแป้งดูดซับความชื้นเหล่านี้กลายเป็นหยดน้ำแล้วรวมกันเป็นเมฆ ตามด้วยขั้นตอนที่2 คือการเลี้ยงเมฆให้อ้วนด้วยสารแคลเซียมคลอไรด์ หรือแคลเซียมออกไซด์ และตามด้วยขั้นตอนโจมตีเพื่อให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมาย ด้วยผงยูเรีย และน้ำแข็งแห้ง นั่นหมายความว่าถ้าไม่มีเมฆธรรมชาติ หรือ ไม่สามารถก่อเมฆขึ้นมาได้ก็จะไม่มีขั้นตอนอื่นตามมาและจะไม่มีฝน ในช่วงฤดูแล้งของบ้านเราค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่า 60% แต่ในฤดูนี้มักจะเผชิญเหตุภัยพิบัติต่างๆตามที่กล่าวมาแล้วและพี่น้องประชาชนก็คาดหวังให้ช่วยทำฝนหลวงเพื่อคลี่คลายสถานการณ์เหล่านี้ 
  กรมฝนหลวงฯจึงได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย (วว.) ทำการศึกษาวิจัยพัฒนาสารฝนหลวงทางเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการเลือกสารทางเลือกนี้ 3 ข้อคือ เป็นสารที่สามารถดูดความชื้นจากบรรยากาศที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60% และต้องดูดความชื้นได้ดีกว่าเกลือแป้งที่ใช้อยู่ เป็นสารที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำไม่เกิน 5 องศาเซลเซียสซึ่งเหมาะสมกับการปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนที่ 1 ขั้นก่อเมฆ และจะต้องเป็นสารที่เมื่อกลายเป็นสารละลายแล้วความตึงผิวจะต้องใกล้เคียงหรือมากกว่าสารฝนหลวงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการทดลองในห้องปฏิบัติการจำนวนมากกว่า 40 สูตร แต่มีเพียงจำนวน 5 สูตรที่ถูกเลือกมาทดลองในชั้นบรรยากาศจริงที่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดคือ AR23 AR25 AR31 AR38 และ AR42  สารทั้ง 5 สูตรนี้ประกอบไปด้วย เกลือทะเล แคลเซียมคลอไรด์ และ/หรือ โพแทสเซียมคลอไรด์ และ/หรือ ยูเรีย ซึ่งสามารถดูดความชื้นใoบรรยากาศได้ดีกว่าสารฝนหลวงสูตรปัจจุบัน 5-10 เท่า ที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60% ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองในชั้นบรรยากาศจริง คาดว่าอีก 1-2 ปีจะสามารถสรุปผลการวิจัยสารทางเลือกนี้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นความหวังดีของทั้งสองหน่วยงานคือกรมฝนหลวงฯและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย (วว.) ที่พยายามหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยพิบัติในฤดูแล้งอย่างเต็มที่
  อย่างไรก็ตามสารที่เลือกมาทำการทดลองทั้ง 5 สูตรนั้นมีราคาแพงมากกว่าสารฝนหลวงสูตรปัจจุบันที่ใช้อยู่(เกลือแป้ง) ดังนั้นการจะปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนก่อเมฆจึงต้องเลือกใช้สารให้เหมาะสมกับเงื่อนไขสภาพอากาศ และคำนึงถึงต้นทุนของสารที่นำมาใช้ด้วยจึงจะเป็นความหวังดีมิฉะนั้นจะกลายเป็นการสู่รู้...
#การกระทำที่ถูกที่ถูกเวลาคือความหวังดี
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด


ภาพและวีดีโอ