เปลี่ยนการแสดงผล
#บอกหน่อยฝนตกมากน้อยแค่ไหน
8 กรกฎาคม 2563 35,475 ครั้ง

#บอกหน่อยฝนตกมากน้อยแค่ไหน
  ฝนถือปัจจัยสำคัญต่อพี่น้องเกษตรกรในการหล่อเลี้ยงพืชเช่นเดียวกับอากาศที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์นั่นหมายถึงพืชจะขาดแคลนน้ำไม่ได้ฉันใด มนุษย์จะขาดอากาศหายใจไม่ได้ก็ฉันนั้น อย่างไรก็ตามปริมาณฝนที่ต้องการต้องไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ตลอดจนต้องรู้ว่าดินยังสามารถอุ้มน้ำได้อีกเท่าไหร่ และมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีปริมาณมากน้อยอย่างไรเพื่อการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่ต้องวัดปริมาณน้ำฝน การวัดปริมาณน้ำฝนสมัยก่อนเมืองไทยวัดเป็น ห่า โดยห่าหนึ่งนั้นถือเอา น้ำเต็มฝาบาตรเป็นเกณท์  โดยใช้ฝาบาตรตั้งไว้กลางแจ้ง ถ้าได้น้ำเต็มฝาบาตรเรียกว่า “ฝนตกห่าหนึ่ง”
  ปัจจุบันการวัดปริมาณฝนนิยมวัดเป็นมิลลิเมตร เซ็นติเมตร หรือนิ้ว โดยมีเครื่องมือวัดแบ่งออกเป็น 3 ชนิดดังนี้
เครื่องวัดแบบอนาล็อก หรือวัดด้วยตนเอง (Manual) โดยทั่วไปจะประกอบด้วยกระบอกเก็บน้ำฝนซึ่งทำด้วยอะคริลิก หรือแก้ว มีหลายขนาดความจุที่แตกต่างกัน และมีหน่วยเป็นนิ้ว และเซ็นติเมตร หรือมิลลิเมตร แสดงชัดเจน อุปกรณ์ควรถูกวางเหนือพื้นดิน และควรอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่มีอาคารหรือต้นไม้สูงบัง
เครื่องมือวัดแบบไซฟ่อน (siphon rain gauge)
เป็นเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนแบบมาตรฐานที่ทำงานมีประสิทธิภาพดี เป็นเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบอัตโนมัติที่สามารถวัดปริมาณน้ำฝนได้ตลอดเวลา  ใช้ลักษณะของไซฟอน (Natural Siphon Gauge or Float Type) คือดูดน้ำให้ไหลออกจากถังลูกลอยในเมื่อฝนตกลงมาจนเต็มถัง จะทำให้อากาศถูกดันน้ำออกมาทางท่อด้านล่าง และเมื่อน้ำไหลลงออกจากถังลูกลอยหมด อากาศก็จะไหลเข้ามาแทนที่ทำให้การไซฟอนหยุดโดยทันที
เครื่องวัดแบบดิจิตอล  (Tipping rain gauge)
มีเซ็นเซอร์วัดน้ำฝนที่เก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำฝน สามารถเทน้ำทิ้งได้อัตโนมัติ และส่งข้อมูลแบบไร้สาย ได้ไกลมากกว่า 100 เมตรจากหน้าจอแสดงผล 
ถังวัดปริมาณน้ำฝนมีการติดตั้งตามจุดต่างๆมากมาย หลายรูปแบบทั้งรูปแบบอนาล็อก และดิจิตอลของหน่วยงานต่างๆเช่น กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน)(สสน.) กรมชลประทาน เป็นต้น เพื่อวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละวัน
การวัดปริมาณน้ำฝนยังสามารถประเมินจากภาพถ่ายเรดาร์ตรวจสภาพอากาศอีกด้วย โดยหลักการทำงานของเรดาร์ฯจะเป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปในชั้นบรรยากาศเพื่อไปกระทบกับหยาดน้ำฟ้าและสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้น กลับมาที่เครื่องรับสัญญาณ ระดับความแรงของสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจะบ่งบอกถึงจำนวนหรือความหนาแน่นของหยาดน้ำฟ้าในชั้นบรรยากาศ 
ในปัจจุบันหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ได้ทำการประเมินปริมาณฝนจากเรดาร์ฯโดยการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าสัญญาณที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสะท้อนกลับมา(Z)กับปริมาณฝน(R) มีหน่วยเป็น มิลลิเมตรต่อชั่วโมง(mm/h) ในรูปแบบสมการ Z=aR^b โดยค่า a และ b เป็นค่าคงที่สำหรับแต่ละสถานีเรดาร์ฯ หรือใช้ค่าเดียวกันภายในพื้นที่ลักษณะใกล้เคียงกัน 
ประเทศที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรรวมถึงประเทศไทย กลุ่มฝนที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็น Convective เป็นฝนที่เกิดขึ้นในแนวตั้งจะใช้สมการ  Z=300R^1.4 (National Oceanic and Atmospheric Administration:NOAA) เป็นสมการมาตรฐานในการประเมินปริมาณฝนเบื้องต้นและสามารถจำแนกได้ดังนี้ 
- ฝนเล็กน้อย(Light Rain) ค่าสัญญาณ 28-38 dBZ ปริมาณฝนตั้งแต่ 0.1-10.0 มิลลิเมตร
- ฝนปานกลาง(Moderate Rain) ค่าสัญญาณ 40-46 dBZ ปริมาณฝนตั้งแต่ 10.1 มิลลิเมตร ถึง 35.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนัก(Heavy Rain) ค่าสัญญาณ 48-52 dBZ ปริมาณฝนตั้งแต่ 35.1 มิลลิเมตร ถึง 90.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนักมาก(Very Heavy Rain) ค่าสัญญาณ 54 dBZ ขึ้นไป ปริมาณตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตร ขึ้นไป
กรมฝนหลวงฯได้ทำการปรับเทียบค่าคงที่ a และ b ของสมการดังกล่าวโดยการติดตั้งถังวัดน้ำฝนแล้วมาหาความสัมพันธ์จากสมการเทียบกับปริมาณน้ำฝนในถังวัด จนสามารถประเมินปริมาณฝนตามเฉดสีจากภาพเรดาร์ฯ กรมฝนหลวงฯ ได้ดังนี้
- ฝนเล็กน้อย(Light Rain) เฉดสีเหลืองถึงส้ม
- ฝนปานกลาง(Moderate Rain) เฉดสีส้มถึงแดง
- ฝนหนัก(Heavy Rain) เฉดสีแดงเข้มถึงชมพู
- ฝนหนักมาก(Very Heavy Rain) เฉดสีชมพูถึงน้ำเงิน
  การประเมินปริมาณฝนจากภาพเรดาร์ฯถือว่าสะดวกและรวดเร็ว แต่อาจมีการคลาดเคลื่อนได้บ้าง กรมฝนหลวงฯจึงมีการพัฒนาพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ให้เป็นอาสาสมัครฝนหลวงที่คอยช่วยวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่และส่งให้ทีมงานของกรมฝนหลวงฯในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งใช้ข้อมูลจากถังน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาและจากสสน.ประกอบการพิจารณาปริมาณฝนที่ตกจากการทำฝนหลวงนั้นเพียงพอต่อความต้องการน้ำของพี่น้องประชาชนในพื้นที่หรือไม่
  ปัจจุบันมีการพัฒนาพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ให้เป็นอาสาสมัครฝนหลวงไปแล้ว 2,000 กว่ารายกระจายอยู่ในพื้นที่ ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนไม่เพียงพอในการที่จะช่วยส่งข้อมูลในพื้นที่ให้กับทีมงาน ดังนั้นหากพี่น้องประชาชนได้ร่วมกันส่งข้อมูลที่ถูกต้องในพื้นที่ให้กับทีมงานฝนหลวงกันอีกแรงหนึ่ง พวกเราเชื่อมั่นว่าการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของพี่น้องประชาชนจะได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพและพวกเราจะก้าวผ่านปัญหาที่กำลังเผชิญกันอยู่ไปอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลเรดาร์ตรวจสภาพอากาศจาก นายปริญญา อินทรเจริญ นักวิทยาศาสตร์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
#ขาดแคลนน้ำแก้ได้ด้วยน้ำใจ
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

 


ภาพและวีดีโอ