เปลี่ยนการแสดงผล
#ใครว่าพี่ไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก
22 สิงหาคม 2563 305 ครั้ง
#ใครว่าพี่ไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก
Are you Filipino/Filipina? 
Are you from the Philippines?
คุ้นเคยกับคำถามเหล่านี้กันบ้างมั้ยเอ่ย “คุณเป็นชาวฟิลิปปินโน (ผู้ชาย)/ฟิลิปปินนา (ผู้หญิง) ใช่ไหม” หรือ “คุณมาจากประเทศฟิลิปปินส์ใช่ไหม” หลายคนอาจเคยโดนฝรั่งมังค่าทักทายด้วยคำถามเหล่านี้ จนทำเอางุนงง บางคนอาจจะทำหน้าเจื่อนๆ ไปต่อไม่เป็น บางคนก็อาจสงสัยว่าจะชม หรือจะติกันแน่ แต่บางคนก็อาจจะดีใจ เพราะชาวฟิลิปปินโน(นา)เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ และเป็นประเทศที่พูดและใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ่ะเดี๋ยวก่อน! ไม่ว่าคำถามเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกอย่างไร อย่าเพิ่งไปตัดสินกันเลยน้าว่าดีหรือไม่ ลองมาดูสาเหตุและความเป็นมาของคำถามเหล่านั้นกันสักหน่อย
เนื่องด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานสมัยอาณานิคมที่ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนกว่า 300 ปี และอเมริกาอีก 50 ปี ทำให้ชาวฟิลิปปินโน(นา) มีเชื้อสายมลายู และยังผสมผสานกับจีน อเมริกัน สเปน และอาหรับ แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศร้อยละ 95 เป็นชนพื้นเมืองที่มีรูปร่างสูงปานกลาง จมูกแบน ผมดำ ตาและผิวสีน้ำตาล (สวยหล่อเข้มแบบฉบับของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณนั้น)
จำนวนประชากรที่มากถึง 100 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่ของประเทศที่มีเพียง 300,000 ตารางกิโลเมตรแล้ว ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ทั้งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ในเอเชีย และมากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก นอกจากนี้ ยังมีประชากรอีกหลายสิบล้านคนอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก ทำให้ชาวฝรั่งมังค่าคุ้นเคยกับชาวฟิลิปินโน (นา) มากกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง
แล้วสงสัยกันมั้ยว่า...ทำไมชาวฟิลิปปินโน (นา) จึงได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศเป็นกลุ่มใหญ่เพียงนั้น
แม้ว่าประเทศฟิลิปปินส์จะประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า 7,000 เกาะ แต่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ  2,000 เกาะเท่านั้น นอกนั้นเป็นเกาะภูเขาไฟ และเกาะขนาดเล็ก ซึ่งประชากร 3 ใน 4 ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร แต่สภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะที่มีภูเขาเป็นแกนกลาง มีที่ราบอยู่น้อย และเป็นเพียงที่ราบแคบ ๆ ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้อย ประชากรส่วนใหญ่จึงหันไปประกอบอาชีพในต่างประเทศ ฟิลิปปินส์จึงพึ่งพารายได้จากแรงงานในต่างประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นส่วนใหญ่
ถึงแม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย ตามที่ราบแคบ ๆ โดยมีที่ราบสำคัญบริเวณตอนกลางของเกาะลูซอน หรือที่เรียกว่า ที่ราบมะนิลา ซึ่งเป็นที่ราบที่ใหญ่ที่สุด แต่ด้วยตำแหน่งประเทศตั้งอยู่ในแถบวงแหวนแห่งไฟและใกล้กับเส้นศูนย์สูตร และเกาะต่าง ๆ เป็นภูเขาไฟ จึงมีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ มีผู้ประมาณว่าประเทศนี้มีแหล่งแร่ทองคำใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากแอฟริกาใต้ และเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ส่วนพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ อ้อย 
มีการปลูกแบบไร่ขนาดใหญ่เพื่อการค้า สำหรับผลิตน้ำตาลและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ
ครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2526 เกาะเนกรอส (Negros) และเกาะแพนนี้ (Panny) ซึ่งเป็นเกาะปลูกข้าวและอ้อยที่สำคัญ
ประภัยแล้งอย่างหนัก ตัวแทนจากคณะกรรมการน้ำตาลทรายแห่งฟิลิปปินส์ (The Philippines Sugar Commission) ได้เชิญหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นปรมาจารย์ผู้คิดค้นทดลองการทำฝน และผู้เชี่ยวชาญวัฒนา สุกาญจนาเศรษฐ์ ลูกศิษย์ลูกหม้อฝนหลวง เดินทางไปปฏิบัติการทำฝนจนสามารถช่วยพื้นที่ประสบภัยแล้งนี้ได้ประสบผลสำเร็จ ทีมทำฝนชาวฟิลิปปินโนได้เรียนรู้และมีความเข้าใจวิธีการปฏิบัติการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทานเป็นอย่างดี
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กรรมวิธีและเทคนิคการทำฝนหลวงของไทยได้เป็นต้นฉบับและตำราให้ฟิลิปปินส์ได้ยึดถือปฏิบัติเพื่อทำฝนยามเกิดภัยแล้งจากความผันผวนของสภาพอากาศ โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันของ 3 หน่วยงานหลักของประเทศ ได้แก่ สำนักการบริหารจัดการดินและน้ำ กองทัพอากาศ และหน่วยงานบริการด้านการบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ 
แม้เวลาจะเปลี่ยนและหมุนเวียนไป ความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ของเราไม่ได้จืดจางและหายไปตามกาลเวลา
ไทยและฟิลิปปินส์มีการติดต่อและสานสัมพันธ์ โดยชาวฟิลิปปินโน สนใจที่จะเรียนรู้และขอศึกษาความก้าวหน้าและ
ความทันสมัยของเทคโนโลยีฝนหลวง และได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมและการฝึกอบรมระดับภูมิภาคอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเราทั้งสองมีแนวทางจะจัดทำข้อเสนอโครงการภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และพัฒนาเทคนิคการทำฝนอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องสองประเทศ
ใครจะคิดเล่าว่าประเทศหมู่เกาะที่อยู่ในเขตมรสุม ที่มีฝนกระหน่ำและพายุฟ้าคะนอง จะประสบกับปัญหาภัยแล้งอันแสนโหดร้ายที่ไม่ต่างจากภัยแห่งลมฟ้าพายุ จนขอมาพึ่งใบบุญแห่งพระบรมโพธิสมภารขององค์พระภูมินทร์ปิ่นสยาม พระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงอันมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ไม่เพียงต่อพสกนิกรไทย แต่ยังแผ่ไกลไปคุ้มครองและบรรเทาทุกข์ร้อนประชากรในหมู่เกาะแห่งนี้
เขียนโดย "รุ้งทอแสง"
#สายฝนแห่งพระเมตตาแผ่ไพศาลไปทั่วแคว้นแดนชาวเกาะ
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
ภาพและวีดีโอ