เปลี่ยนการแสดงผล
#หลังพายุผ่านไปฟ้าย่อมสดใสเสมอ
27 สิงหาคม 2563 788 ครั้ง

#หลังพายุผ่านไปฟ้าย่อมสดใสเสมอ
“สายรุ้งไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากเมฆหมอกหรือพายุ”
คำคมที่ให้กำลังใจกันในทุกสมัยและทุกสถานการณ์ยามพบเจออุปสรรค และปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตอย่างไม่หยุดหย่อน จนบางครั้งทำให้รู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ และหมดกำลังใจ แต่หากอดทนและมีสติพอที่จะฟันฝ่าและก้าวข้ามอุปสรรคครั้งนี้ได้ ชัยชนะ ความสำเร็จ และสิ่งดี ๆ ต่างรอเราอยู่ในวันข้างหน้า เปรียบดังสายรุ้งจะ
ทอแสงบนขอบฟ้าอันแสนสดใสได้ ก็ต่อเมื่อมีพายุฝนที่ได้โหมกระหน่ำและสงบลงในที่สุด
ว่าด้วยเรื่อง “รุ้งกินน้ำ” สิ่งที่สร้างความตื่นตาและประทับใจให้กับผู้พบเห็น คือ ความหลากสีของแสงสเปกตรัม
อันประกอบด้วย สีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม และแดง จึงเป็นที่มาของคำว่า “รุ้งเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง” ที่มีความสวยงามเฉพาะของแต่ละสีที่ต่างพร้อมเพรียงเรียงแถวและรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
ความหลากหลายของสีสายรุ้งที่อยู่รวมกันได้อย่างลงตัวและพอดี อาจทำให้เรานึกถึงประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แต่สามารถอยู่รวมกันได้อย่างสันติสุข อีกทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศยังเข้ากับคำคมที่ถูกกล่าวไว้ในข้างต้นอีกด้วย เรานึกถึงประเทศใดบนโลกใบนี้บ้างเอ่ย...
ยังมีอีกหนึ่งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง นั่นคือ มาเลเซีย ที่กว่าจะสามารถหลอมรวมความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ สังคม และวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ สามารถสร้างความเป็นรัฐที่เข้มแข็งขึ้นมาได้ จนอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขเช่นทุกวันนี้ ต้องประสบปัญหาการจราจลและความรุนแรงทางชาติพันธุ์ คือ ชาวมาเลย์ จีน และอินเดีย
ซึ่งก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมและความสูญเสียของคนในชาติอย่างใหญ่หลวง
มาเลเซียประสบความสำเร็จอย่างยิ่งต่อการสร้างชาติในระยะเวลาอันสั้น หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2500 ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การหลอมรวมความรู้สึกเป็นเจ้าของและพลเมืองของประเทศ การมีสำนึกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมร่วมกัน รวมถึง “ความอยู่รอด” ของประเทศอันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดและ
มีนัยยะด้านความมั่นคงแห่งชาติ หากปราศจากคุณค่านี้ ความเป็นรัฐก็มิอาจดำรงอยู่ได้ 
ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชาติ เพื่อความอยู่รอดของประเทศ และเพื่อความอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน มาเลเซียเน้นการ
บูรณาการระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางการเกษตร  ระหว่างสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงของไทย (ปัจจุบันคือกรมฝนหลวงและการบินเกษตร) กับกรมอุตุนิยมวิทยามาเลเซีย
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก มาเลเซียต้องการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ
โดยได้เชิญ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล และนักวิชาการไทยไปถ่ายทอดเทคนิคฝนหลวงให้แก่เจ้าหน้าที่
กรมอุตุนิยมวิทยามาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2529 ซึ่งต่อมาได้ทดลองปฏิบัติการฝนหลวงร่วมกัน โดยตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบินพาณิชย์ จ.นราธิวาส และสนามบินบาบานเลปาส เกาะปีนัง มาเลเซีย โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้แก่เขื่อนปิดู เขื่อนมูดาและเขื่อนทีเม็งเกอร์ของมาเลเซีย รวมทั้งเขื่อนบางลางของไทย
ผลปฏิบัติการปรากฏว่าสามารถทำให้ฝนตก ณ เขื่อนเป้าหมาย โดยมีส่วนช่วยให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น ความสำเร็จที่ได้ประจักษ์แก่สายตาในครั้งนั้น และความมั่นใจในเทคนิคฝนหลวงของไทย ทำให้ในปี พ.ศ. 2549 กรมอุตุนิยมวิทยามาเลเซีย ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการทำฝนของประเทศ
ปัจจุบัน มาเลเซียทำฝนเพื่อสลายหมอกควันซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เช่นเดียวกับไทย ที่ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดปัญหาหมอกควันให้กับเมืองใหญ่ที่มีฝุ่นปกคลุมในยามถึงฤดูแล้งที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียด้านวิชาการการดัดแปรสภาพอากาศ ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา มาเลเซียส่งผู้แทนเข้าร่วมการฝึกอบรมระดับอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ ยังคอยสนับสนุนประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน และให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศต่อไป
พระราชดำริและพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.9 ในการคิดค้นและทดลองโครงการฝนหลวงจนประสบผลสำเร็จ ก่อเกิดเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร และทอดพระเนตรเห็นความลำบากยากเข็ญของพสกนิกร ฝนหลวงจึงเปรียบดั่งสายรุ้งที่ทอแสงหลังพายุแห่งความทุกข์ยากที่ถาโถมกระหน่ำเข้ามาในชีวิตของชาวนาประชาราษฎร์ผู้น่าสงสาร ที่ต้องทนอยู่กับความทุกข์ร้อนมาเป็นเวลาแสนนาน 
สายรุ้งแห่งน้ำพระเมตตา ไม่ได้ทอแสงเพียงแค่บนขอบฟ้าแดนสยาม แต่ยังปรากฏตัวอย่างงดงามบนท้องฟ้าที่สดใสปราศจากม่านหมอกในประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการขนานนามว่า “ไข่มุก” แห่งตะวันออกที่ผสมผสานวัฒนธรรมจากตะวันออกและตะวันตกได้อย่างลงตัว อีกด้วย
เขียนโดย “รุ้งทอแสง”
#น้ำแห่งพระมหากรุณาธิคุณก่อเกิดเป็นสายรุ้งงดงามอย่างมีคุณอนันต์
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

 

ภาพและวีดีโอ