เปลี่ยนการแสดงผล
#ความเมตตาค้ำจุนโลก
6 กันยายน 2563 244 ครั้ง
#ความเมตตาค้ำจุนโลก

ป่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของสัตว์ป่าเช่นเดียวกับปัจจัย 4 ของมนุษย์ที่มีความต้องการพื้นฐานได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพราะป่าเป็นทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคของสัตว์ป่า

ดังนั้นหากป่าถูกทำลายนั่นหมายความว่าปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพของสัตว์ป่าหลากหลายชนิดถูกทำลายลง

เพื่อความอยู่รอดของสัตว์เหล่านี้ย่อมต้องดิ้นรนแสวงหาแหล่งอาหารใหม่อย่างแน่นอนเช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องการให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ในโลกใบนี้

ป่ามักถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถือเป็นการเบียดเบียนหรือบังคับให้สัตว์เหล่านั้นดิ้นรนบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนเพื่อการหาอาหารประทังชีวิตให้อยู่รอดเพื่อสืบพันธุ์ต่อไป

ปัจจุบันได้เกิดสภาพปัญหาดังกล่าวขึ้นหลายพื้นที่ แม้แต่พื้นที่ป่าที่ยังคงความสมบูรณ์แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แหล่งน้ำในพื้นที่ป่าได้ลดลง อย่างอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยเขย่งและป่าเขาช้างเผือก ในเขตท้องที่อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 700,000 ไร่ หรือ 1,120 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือจดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทิศใต้จดอุทยานแห่งชาติไทรโยค ทิศตะวันออกจดอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ทิศตะวันตกจดเขตแดนไทย-พม่า

อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์จำนวนมาก หลากหลายชนิด และเป็นต้นน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ์

เขื่อนวชิราลงกรณ์เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทยที่ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อยในท้องที่ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร เขื่อนวชิราลงกรณ์มีความสูงจากฐาน 92 เมตรสันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ยาว 1,019 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) 161.75 เมตร มีพื้นที่รับน้ำฝน 3.720 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยประมาณปีละ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาตรเก็บกักสูงสุดปกติ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนวชิราลงกรณ์ปัจจุบัน(ปี 2563) มีปริมาณน้ำ 3,911 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 44 % ของความจุเก็บกัก ขณะที่ในปี 2562 ณ เวลาเดียวกัน มีปริมาณน้ำ 7,143 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 81 % ของความจุเก็บกัก

จะเห็นว่าปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้ยังมีปริมาณน้อยมากนั่นหมายรวมถึงปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ป่าต้นน้ำย่อมน้อยไปด้วยและเหลือระยะเวลาฤดูฝนเพียงอีกไม่เกิน 2 เดือน การบริหารจัดการเพื่อเติมเต็มด้วยการปฏิบัติการฝนหลวงจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะต้องแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่จากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงกาญจนบุรี

การปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ด้วย

ณ พื้นที่แห่งนี้พวกเราชาวฝนหลวงได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการหลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ พระอริยสงฆ์ผู้มีหัวใจแห่งการพัฒนา ณ วัดเวฬุวัน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตาต่อสัตว์โลก ทั้งมนุษย์และสัตว์ป่า ซึ่งได้มาบุกเบิกและสร้างวัดป่าแห่งนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2521 ก่อนเริ่มก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ 1 ปี ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าเขื่อนเขาแหลม จึงนับได้ว่าเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเข้าใจสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คนในย่านนี้เป็นอย่างดี

จากการสนทนาธรรมกับหลวงปู่ ท่านได้ให้คติธรรมว่า"ทุกอย่างให้ไปหาที่เหตุ"และ"ให้มีปัจจัย 4 แบบพอเพียงและต้องมีความมั่นคงทางอาหาร"

หลังจากได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่แล้ว หลวงปู่ได้เมตตานำพาคณะทีมงานฝนหลวงลงสำรวจสภาพพื้นที่ในป่าต้นน้ำ ที่มีการพัฒนาพื้นที่ลานหญ้าเดิมไม่มีต้นใหญ่ขึ้นในบริเวณนั้นให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์โดยเฉพาะช้างได้ใช้ และปลูกกล้วย ไผ่ โดยรอบบริเวณเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของช้างป่า เพื่อไม่ให้ช้างป่าออกมาบุกรุกในชุมชน สร้างความสมดุลให้คนที่อาศัยอยู่รอบป่าอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีความสุข

จากการสำรวจพื้นที่พบว่าปริมาณน้ำในสระน้ำที่หลวงปู่ได้สร้างขึ้นตามจุดต่างๆมีปริมาณน้ำน้อยมากๆ เนื่องจากฝนตกค่อนข้างน้อย แต่น้ำในสระนั้นช่างใสมาก ใสจนสามารถมองเห็นก้นสระได้อย่างชัดเจน ใสราวกับน้ำใจอันบริสุทธิ์ที่หลวงปู่มีให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย...

หลังจากการลงสำรวจพื้นที่เรียบร้อยแล้วทำให้เข้าใจในคติธรรมดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยหลวงปู่เล่าให้ฟังเติมว่าพื้นที่แห่งนี้ทุกปีจะมีน้ำผุดขึ้นจากตาน้ำไม่เคยขาด แต่ปีนี้แม้แต่ตาน้ำที่เคยมีน้ำผุดขึ้นมาตลอดทั้งปี ในปีกน้าก็แห้งหายไปทำให้ปริมาณน้ำในสระที่ก่อสร้างไว้ให้สัตว์ป่าเหือดแห้งไปด้วย สาเหตุหนึ่งมาจากการประกอบอาชีพตัดหน่อไม้ทำหน่อไม้ดองเป็นอุตสาหกรรมมากไป หน่อไม้ที่โผล่ขึ้นมาใหม่ไม่มีโอกาสเติบโตต้นเก่าก็แห้งตายลงเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟไหม้ป่า อันไม่ได้เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

การทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่แห่งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องไปหาที่เหตุดังคติธรรมที่หลวงปู่ฝากไว้เช่นกันนั่นคือ โอกาสที่จะเกิดฝนบริเวณนี้จะต้องอาศัยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องบินล้ำน่านฟ้าเข้าไปในชายแดนเมียนมาร์หรือชิดชายแดนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ในแง่ของนิรภัยการบินระหว่างประเทศก็ถือเป็นเรื่องยาก แต่พวกเราจะพยายามกันต่อไป ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นมาร่วมใช้งาน เช่น UAVหรืออากาศยานไร้คนขับ จรวดฝนหลวง มาเสริมทัพ

ยิ่งไปกว่านั้นหลวงปู่ได้จัดทำโครงการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันของราษฎรในชุมชนกับช้างป่าทองผาภูมิให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีความเมตตาต่อกัน และชาวฝนหลวงจะร่วมช่วยเติมเต็มในการทำฝนให้กับพื้นที่แห่งนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถที่มีเพื่อสืบสานปณิธานของหลวงปู่ผู้มีหัวใจแห่งการพัฒนาและเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่มีต่อสัตว์โลกสืบไป...

กราบนมัสการหลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#แม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังรับรู้และสำนึกได้ในความเมตตาของผู้ให้
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
ภาพและวีดีโอ