เปลี่ยนการแสดงผล
#ขึ้นชื่อว่าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
6 กันยายน 2563 220 ครั้ง

#ขึ้นชื่อว่าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
  นับตั้งแต่ที่สมองมีวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดมาจากวานร มนุษย์ได้สนใจและให้ความสำคัญกับสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของตน เช่น สังเกตุว่าถ้าฝนจะตก เมฆบนท้องฟ้าควรจะมีรูปลักษณ์เช่นไร พายุจะเกิดขึ้นเมื่อใด และพัดรุนแรงเพียงใด รวมถึงการทำให้ฝนตก ว่าจะต้องใช้อะไรและอย่างไร
  นักปรัชญากรีก Aristotle ได้เขียนตำราด้านอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่เมื่อ 340 ปีก่อนคริสตกาลว่า เวลาน้ำระเหยจากแม่น้ำและทะเลจะกลายเป็นไอและลอยขึ้นไปเป็นเมฆ แล้วตกลงมาเป็นฝน นักวิทยาศาสตร์กรีก Theophrastus ได้เคยเขียนตำราเกี่ยวกับลมและบรรยายสภาพทั่วไปของเมฆบนท้องฟ้าก่อนฝนจะตก รวมถึงปราชญ์อัจฉริยะ Leonardo da Vinci พบว่าความชื้นสามารถบอกโอกาสการเกิดฝนได้ จึงได้ออกแบบอุปกรณ์ hygrometer และ anemometer ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดความชื้นและความเร็วลม ตามลำดับ
  ในเวลาต่อมาเมื่อชนชาติต่างๆ มีปืนใหญ่ใช้ในการทำสงคราม ก็ได้ใช้อาวุธดังกล่าวยิงเมฆ เพราะเชื่อว่ากระสุนปืนจะทำให้เมฆแตกกระจาย ซึ่งต่อมาจีนสามารถนำปืนใหญ่มาใช้สำหรับการทำฝนและทำให้ฝนไม่ตกได้อย่างสำเร็จ ส่วนในแถบอาคเนย์อย่างแดนสยามเมืองยิ้ม เวลาต้องการฝน มักใช้วิธีแห่นางแมวหรือยิงบั้งไฟขึ้นท้องฟ้าเพื่อให้สวรรค์เปิด และเทวดาปลดปล่อยฝนลงมา  นี่เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ได้พยายามศึกษาเพื่อจะต่อสู้และเอาชนะธรรมชาติเรื่อยมา...
  ชาวสยามช่างโชคดีที่องค์เทวดาเดินดินทรงมีพระเมตตาและสามารถบันดาลให้ฝนตกในพื้นที่ที่เหือดแห้งได้จริง โดยไม่รอคอยและหวังพึ่งเพียงให้พระพิรุณพอพระทัยโปรดปล่อยฝนลงมา พระองค์ทรงคิดค้น วิจัย และทดลอง จนสามารถประมวลผลสำเร็จการทำฝน เป็น 3 ขั้นตอน ในปี พ.ศ. 2516 จวบจนสามารถพัฒนากรรมวิธีให้ก้าวหน้าเป็นการปฏิบัติการฝนหลวง 6 ขั้นตอน โดยทรงสรุปเป็นแผนภาพการ์ตูนและพระราชทานให้ใช้เป็น ตำราฝนหลวง ในปี 2542 อันเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ใช้ปฏิบัติการในไทยและยังไม่มีประเทศใดในโลกเคยปฏิบัติด้วยเทคโนโลยีนี้มาก่อน
  ความสำเร็จของการปฏิบัติการฝนหลวงของไทยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียน ประสงค์ขอรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเทคนิคการทำฝนของไทย โดยผู้เชี่ยวชาญไทย ได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญในระดับภูมิภาค และองค์การระหว่างประเทศเรื่อยมา ไทยจึงมีบทบาทด้านการดัดแปรสภาพอากาศในระดับนานาชาติมากขึ้น รวมทั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้จดทะเบียนให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีกิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกอบด้วยสมาชิกที่มีกิจกรรมด้านการดัดแปรสภาพอากาศและขึ้นทะเบียน รวม 28 ประเทศ (ข้อมูล ณ ปี 2525) ได้รับรู้ว่าการทำฝนหลวงเป็นกิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคเขตร้อนและส่งผู้เชี่ยวชาญมาเยือนและติดตามความก้าวหน้ากิจกรรมฝนหลวงในไทยต่อเนื่องหลายครั้ง รวมทั้งกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ยังให้การยอมรับว่าไทยมีประสบการณ์และมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโยลยีมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ คณะอนุกรรมการว่าด้วยภูมิอากาศแห่งอาเซียน ได้เชิญผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมว่าด้วยกิจกรรมด้านการดัดแปรสภาพอากาศแห่งอาเซียนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 และได้เข้าร่วมเรื่อยมาทุกปี โดยผลการประชุมที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกเห็นชอบให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน” และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน โดยการจัดสัมมนาครั้งแรก ดำเนินขึ้นจากการสนับสนุนขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้หัวข้อ “The First ASEAN Seminar on Weather Modification and Evaluation Technique” ณ จ. เชียงใหม่ พ.ศ. 2527 ในฐานะผู้นำด้านการดัดแปรสภาพ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาดังกล่าวเรื่อยมา ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้เชิญสมาชิกอาเซียน คู่ภาคีอย่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมทั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก มาร่วมหารือ นำเสนอความก้าวหน้าและผลงานวิจัยภายใต้การประชุม “ASEAN Workshop on Weather Modification 2018”  อันเป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนาความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ในขณะที่ไทย ได้นำเสนอศักยภาพการปฏิบัติการฝนหลวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศในการรับมือและลดผลกระทบปัญาภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่ความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้หลายประเทศ รวมทั้งไทย ยังเผชิญปัญหามลภาวะอากาศจากหมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี จนกลายเป็นวิกฤตปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ที่ส่งต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน
  จากปัญหาด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ดังกล่าว ทำให้กรมฝนหลวงฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการทำฝนหน่วยงานเดียวของประเทศ ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะคิดพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้ทันสมัย และทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีความแม่นยำ ถูกที่ ถูกเวลา และมีประสิทธิภาพ ซึ่งการบูรณาการความร่วมมือกับต่างประเทศ เป็นการช่วยเสริมพลังและเติมเต็มจุดอ่อนของกันและกัน 
  สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนให้กรมฝนหลวงฯ มุ่งสู่เป้าหมายในการเป็น “ศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน” อันจะนำความชุ่มฉ่ำมาสู่พื้นที่แห้งแล้ง และสลายสายหมอกอันตรายทั้งในประเทศและภูมิภาคต่อไป
เขียนโดย "รุ้งทอแสง"
#สู้ลำพังอย่าหวังถึงความสำเร็จ
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

ภาพและวีดีโอ