เปลี่ยนการแสดงผล
# ว่าด้วยเรื่องของมด (ตอนที่ ๑)
9 กันยายน 2563 3,651 ครั้ง

# ว่าด้วยเรื่องของมด (ตอนที่ ๑)

  “มด” จัดเป็นสัตว์ประเภทแมลงชนิดหนึ่ง ที่ก่อกำเนิดบนโลกนี้มาช้านาน มีข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาจากซากฟอสซิล ทำให้เชื่อได้ว่า มดมีจุดกำเนิดตั้งแต่เมื่อหลายสิบล้านปีที่แล้ว และสาเหตุที่มดสามารถอยู่มาได้อย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน สันนิษฐานได้ว่าเนื่องจากมดเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูง จึงสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และสามารถยืนหยัดอยู่รอดได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปจนถึงปัจจุบัน
  จากการศึกษาข้อมูลพบว่า มดในโลกนี้ มีจำนวนมากถึง ๑๕,๐๐๐ ชนิด แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตต่าง ๆ แทบทุกภูมิภาคทั่วโลก อาจยกเว้นแค่บางพื้นที่เช่นแถบขั้วโลกเท่านั้น สำหรับในในประเทศไทย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานว่ามีการพบมด ๙ วงศ์ย่อย ๘๖ สกุล ๕๑๒ ชนิด
ธรรมชาติมดจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและทำงานเป็นทีม ใน ๑ ทีม (รัง) อาจประกอบไปด้วยมดหลายประเภท เช่น มดนางพญาหรือราชินีมด เปรียบเหมือนหัวหน้างาน เป็นผู้ให้กำเนิดประชากรมดในรังใหญ่ ทำหน้าที่วางไข่ กำหนดจำนวนและประชากรให้เหมาะสมกับแต่ละฤดูกาล มดนาง คือมดตัวเมีย ทำหน้าที่เตรียมตัวเป็นนางพญาในวันข้างหน้า มีลักษณะเหมือนนางพญาแต่มีปีก เปรียบเสมือนผู้ช่วยหัวหน้างาน มดงาน คือมดที่เราพบเห็นได้บ่อย เป็นมดตัวเมียที่เป็นหมันไม่มีปีก ทำหน้าที่คอยหาอาหาร สะสมเสบียงเพื่อเลี้ยงดูประชากรในรัง ป้องกันศัตรู ดูแลตัวอ่อน ไข่ และรังของมด รวมทั้งมดราชินี ในมดบางชนิดยังสามารถแบ่งมดงานออกเป็น “มดทหาร” ซึ่งมีขนาดลำตัวใหญ่แต่เล็กกว่ามดราชินี พบได้ภายในรังและบริเวณใกล้รังเพื่อป้องกันศัตรูต่างๆ 
  มดใช้การสื่อสารแจ้งข่าวในกลุ่มสมาชิกโดยการปล่อยสารที่เรียกว่า ฟีโรโมน ซึ่งมดตัวอื่นจะรับการติดต่อสื่อสารได้โดยอาศัยหนวดและขาคู่หน้า ฟีโรโมนมีหลายชนิด เช่น ฟีโรโมนนำทาง ซึ่งมดจะปล่อยไว้ตามทางที่มันเดินผ่าน เพื่อให้สมาชิกมดสามารถเดินตามไปยังแหล่งอาหารได้ถูกต้อง และเมื่อพบอาหารปริมาณมาก ๆ มดจะช่วยกันปล่อยฟีโรโมน เพื่อเรียกสมาชิกให้มาช่วยกันขนอาหารกลับไปเลี้ยงสมาชิกตัวอื่น ๆ ภายในรังฟีโรโมนเตือนภัย เป็นฟีโรโมนที่เมื่อปล่อยออกมาในปริมาณน้อย จะใช้สื่อสารเพื่อการเตือนภัย แต่ถ้าปล่อยออกมาในปริมาณมาก ๆ จะสามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของมดได้ด้วย เช่น ให้เข้าโจมตีศัตรู หรือขุดรูเพื่อหลบภัย หรือฟีโรโมนอื่น ๆ ซึ่งมดจะปล่อยออกมาในเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น มดตัวอ่อนสามารถปล่อยฟีโรโมนกระตุ้นให้มดงานป้อนอาหารให้เมื่อมันรู้สึกหิว หรือฟีโรโมนที่มดราชินีปล่อยออกมาเพื่อควบคุมกิจกรรมของประชากรภายในรัง เป็นต้น มดแต่ละประเภทมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน และแม้ว่าพฤติกรรมบางอย่างของมดที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันทั่วไป อาจทำให้เรารู้สึกรังเกียจหรือรำคาญ เช่น หากเราเผลอวางอาหารจานโปรดไว้ในบริเวณที่มีมด พักเดียวเท่านั้น ไม่ทันได้กระพริบตา มดเพียง ๑ ตัวที่บังเอิญเดินผ่าน อาจเรียกสมาชิกเป็นร้อยเป็นพันตัวเข้ามาสมทบ เพื่อช่วยกันขนอาหารกลับเข้ารัง และถึงแม้ว่าเราจะไล่มันออกไปได้ แต่ใครล่ะจะกล้ากินอาหารที่โดนมดเกือบทั้งรังรุมตอม ทำได้อย่างเดียวคือต้องเทอาหารทิ้งเท่านั้น นี่จึงเป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้คนไม่ชอบมด
  แต่ถึงแม้จะไม่ชอบมดอย่างไร ความมหัศจรรย์ของมดในหลาย ๆ เรื่องคือสิ่งที่เราต้องยอมรับ เช่น มดมีความสุดยอดเรื่องการทำงานเป็นทีมและมีระเบียบวินัยสูง เราจะไม่ค่อยเคยเห็นมดเดินแตกแถว มดสามารถแบกของที่หนักกว่าน้ำหนักตัวถึง 50 เท่า ซึ่งเราคงเคยเห็นกันมาบ้างแล้วตอนที่ขบวนมดเดินขนอาหารชิ้นใหญ่เดินกลับเข้ารัง มดมีความเสียสละ คิดถึงเป้าหมายรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ในบางสถานการณ์เช่นน้ำท่วม มดบางพันธุ์จะสละตัวเองจมอยู่ใต้น้ำ และจะเกาะตัวกันอย่างหนาแน่น เพื่อพยุงน้ำหนักของมดตัวอื่นๆที่อยู่ด้านบน ทำตัวเป็นแพมีชีวิตเพื่อให้มดตัวอื่นปีนขึ้นไปอยู่ด้านบนหนีภัยน้ำท่วม ยอมแม้ตัวเองอาจต้องจมน้ำตาย หรือในบางสถานการณ์ มดบางพันธุ์จะสานตัวเกาะเกี่ยว สร้างตัวเองเป็นสะพานเพื่อให้เพื่อนปีนข้ามขึ้นสู่ที่สูงได้ การทำหน้าที่ของมด สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ มดทุกตัวสามารถสลับที่กันได้ มดที่อยู่ด้านล่างอาจขึ้นไปด้านบน และมดด้านบนก็สามารถลงไปด้านล่างได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่สมาชิกสูญหายไปกับกระแสน้ำหรือถูกปลากิน เป็นต้น 
  ไม่เพียงเท่านั้น มดยังเป็นนักพยากรณ์ธรรมชาติที่เยี่ยมยอด ถ้าเมื่อใดที่เราสังเกตเห็นว่ามดขนไข่ขึ้นสู่ที่สูง แสดงว่าฝนกำลังจะตกหนักระดับน้ำท่วมนอง เนื่องจากมดสามารถรับรู้ถึงความชื้นในอากาศและการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในดินได้ ก่อนฝนตกมักจะมีอากาศชื้นมดจะรับรู้ถึงความชื้นได้ดีกว่ามนุษย์ กลไกการปกป้องรังและลูกหลานจากน้ำท่วมก็คือการอพยพนั่นเอง พูดถึงการทำงานของมดแล้ว ทำให้ย้อนคิดไปถึงการทำงานของคนในกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พวกเราเป็นทีมทำงานเล็ก ๆ ที่เปรียบเหมือนมดตัวเล็กหลายชนิดพันธุ์ที่มาอยู่รวมตัวกัน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานของกรมตามภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
  ทีมปฏิบัติการ เปรียบเสมือนมดนักรบที่ต้องออกไปต่อสู้และเผชิญหน้ากับปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำอย่างไรจึงจะทำให้การขึ้นบินปฏิบัติการในวันนั้นสัมฤทธิ์ผล มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการ
ทีมตรวจสภาพอากาศ เปรียบเสมือนมดนักพยากรณ์ ที่ต้องเตรียมความพร้อมของข้อมูลเพื่อให้มดนักรบ มีข้อมูลวางแผนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมมดนักพยากรณ์ต้องเริ่มต้นการทำงานตั้งแต่ ๗ โมงเช้าของทุกวัน โดยการปล่อยบอลลูนตรวจสภาพอากาศชั้นบน ติดตามและประมวลผลข้อมูลเรดาร์ ทุก ๖ นาที ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทุกวันทั้งนี้ข้อมูลเรดาร์และข้อมูลผลตรวจอากาศประจำวัน ที่ประมวลผลแล้วจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่ server กลาง เพื่อให้ศูนย์ต่าง ๆ ดึงข้อมูลไปใช้
  ทีมปฏิบัติการด้านการบิน หรือทีมมดบิน ซึ่งประกอบไปด้วย นักบิน ช่างเครื่องบิน ช่างสื่อสาร และเจ้าหน้าที่ภาคพื้น ก่อนขึ้นบินปฏิบัติการแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องตรวจสอบและเตรียมอากาศยาน เครื่องมือสื่อสาร และบริภัณฑ์ภาคพื้นต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจ เพราะการขึ้นบินทำงานในสภาพอากาศที่แปรปรวนมีความเสี่ยงภัยสูง ความพร้อมของอากาศยานและเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อสั่งขึ้นบินปฏิบัติการ นั่นหมายถึงภารกิจพิชิตเมฆบนน่านฟ้าได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ทุกอย่างจะผิดพลาดไม่ได้ เพราะความผิดพลาดอาจหมายถึงนาทีชีวิต หรือการขับเคลื่อนภารกิจไม่สัมฤทธิ์ผล กลุ่มที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของมดนักรบอีก ๑ ทีมที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือทีมมดอาสา (อาสาสมัครฝนหลวง) ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ หน้าที่ของทีมมดอาสาคือการรายงานข้อมูลสภาพอากาศประจำวัน ข้อมูลฝนตกในพื้นที่ ข้อมูลความต้องการน้ำและไม่ต้องการน้ำในพื้นที่ รวมทั้งข้อมูลการเพาะปลูก ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นอย่างมากต่อมดนักรบในการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการประจำวัน
  จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติการฝนหลวงให้ประสบผลสำเร็จ มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนประกอบกัน เหมือนการทำงานของมดที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม แต่ละคนรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง และพยายามทำงานในหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด สื่อสาร ร่วมมือ ช่วยเหลือกัน เปิดใจรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของกันและกันให้มากขึ้น ผสมผสานความต่างของคนแต่ละกลุ่ม ให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ ร่วมมือแก้ปัญหาภัยแล้งไปด้วยกัน
เขียนโดย"น้ำตาฟ้า"
#วิถีชีวิตมดงานวิถีชีวิตฝนหลวงเราจะสู้เพื่อความอยู่รอด

ภาพและวีดีโอ