เปลี่ยนการแสดงผล
#คิดเป็นทำเป็น
27 กันยายน 2563 261 ครั้ง

#คิดเป็นทำเป็น

"...ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำ คำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จจากความคิด การคิดก่อนพูดและคิดก่อนทำ จึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่
สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นประโยชน์และเป็นความเจริญ..."

จากพระบรมราโชวาทในหลวง ร.9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540 ข้างต้น ทำให้เราเห็นคุณค่าและความสำคัญของการคิด และการคิดที่ถูกที่ควร จะเป็นการคิดที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และเป็นประโยชน์ระยะยาว

มนุษย์คู่กับความคิด และสาเหตุของการคิดก็มีหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการประสบปัญหาจึงต้องคิดเพื่อหาเหตุผลที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาและทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น หรือเพราะมีความต้องการสิ่งแปลกใหม่ จึงต้องคิดค้นหาพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น หรือเพราะมีความสงสัยจึงต้องการแสวงหาความจริง และที่สำคัญในยุคสมัยแห่งการแข่งขันและแก่งแย่งกันมากขึ้น จึงต้องคิดเพื่อความอยู่รอด หรือหาหนทางให้สามารถดำรงชีวิตที่ดีกว่า

ยิ่งในโลกปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร สังคม เทคโนโลยี การศึกษา สภาพแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้คนอย่างเราๆ ต้องปรับตัวตามให้ทันอยู่เสมอ และคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่คนในยุคสมัยนี้ที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขก็คือ การคิดเป็น นั่นเอง

หัวใจของการคิด คือเป้าหมายของการคิด ไม่ว่าจะคิดเกี่ยวกับสิ่งใด การตั้งเป้าหมายให้ถูกทางเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไร้ทิศทางที่ถูกต้องคอยกำกับควบคุมแล้ว การคิดนั้นก็ไร้ประโยชน์ ดั่งเช่น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่มีนักคิดหลายท่าน ภายใต้การนำของผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้ร่วมระดมสมอง ตั้งเป้าหมายของกรมฯ ในการเป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชาภายในปี พ.ศ. 2580

ในการจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น กรมฝนหลวงฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ระยะ 20 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนดำเนินงาน โดยหนึ่งในเป้าหมายในระยะ 20 ปี คือการพัฒนาศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

แนวคิดของศูนย์ดังกล่าวมาจากหนึ่งในสาเหตุที่ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการดัดแปรสภาพอากาศ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของกรมฯ เรียนรู้วิชาและประสบการณ์จากรุ่นพี่ ดังนั้นศูนย์ฯ นี้จึงจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการดัดแปรสภาพอากาศแบบครบวงจรสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการวิจัยและการปฏิบัติการฝนหลวง รวมทั้งสนองพระราชประสงค์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงให้กับประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย

การถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องดำเนินควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการปฏิบัติการทำฝน จึงได้มีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน ในพื้นที่บริเวณศูนย์ฯ ด้วย เพื่อรับผิดชอบการให้บริการ
การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งจะครอบคลุมและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
ที่มักประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม และช่วงฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน

อีกหนึ่งอาคารที่สำคัญอันเป็น Landmark ของศูนย์ฯ นี้ คือ อาคารพิพิธภัณฑ์พระบิดาฝนหลวงที่จะใช้จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฝนหลวงไว้อย่างครบอรรถรสและตื่นเต้นน่าสนใจ สำหรับเปิดให้บริการทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ นักเรียน/นักศึกษา/ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยว อันเป็นการเผยแพร่และสร้างความประทับใจในพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบิดาแห่งฝนหลวง”

แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย แต่สิ่งที่ยังคงเหลือไว้อยู่เป็นน้ำพระราชหฤทัยที่ได้แทรกซึมอยู่ในสายลม สายน้ำ สายฝน และผืนดิน รอบกายพวกเรา และหล่อเลี้ยงทุกสรรพชีวิตเสมอมา “ฝนหลวง” เป็นหนึ่งใน
น้ำพระราชหฤทัย และพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงเสกสรรบันดาลฝน ให้เรื่องธรรมชาติกลายเป็นผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่แก่ประชาชน ดุจน้ำทิพย์โปรยปรายพร่างพรายคลายทุกข์เข็ญที่แผ่ปกคลุมทั่วฟ้าและอาณาราษฎร

เขียนโดย "รุ้งทอแสง"
#ดั่งศูนย์รวมใจของพสกนิกรชาวไทย
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด ดูน้อยลง

 

ภาพและวีดีโอ