เปลี่ยนการแสดงผล
#ฝุ่นควันดี
27 กันยายน 2563 331 ครั้ง
#ฝุ่นควันดี
  ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปีศาจร้ายอันตรายใกล้ตัว ปีศาจร้ายที่มีขนาดเล็กมาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศมากับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ฝุ่น ควันร้ายก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศคร่าชีวิตประชาชนในแต่ละปีมากมาย ฝุ่นควันส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น อาการไอ จาม หรือภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด สมองขาดเลือด โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง ตลอดจนการระคายเคืองตาและผิวหนัง ฝุ่นควันโดยเฉพาะ PM2.5 มีแหล่งกำเนิดหลักๆ 2 แหล่งด้วยกัน แต่ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้นแหล่งดังกล่าวได้แก่
 1. แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่ การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต
 2. การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)
  อย่างไรก็ตามกระบวนการเกิดเมฆก็ต้องอาศัยฝุ่นควันจำนวนหนึ่งเป็นแกนเมฆ เช่น โซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกง ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับความชื้นในอากาศได้ดี หลังจากดูดความชื้นในอากาศแล้วจะพัฒนาตัวเป็นเม็ดน้ำเพื่อรวมตัวกันเป็นก้อนเมฆเพื่อพัฒนาไปเป็นฝนด้วยกระบวนการทางเมฆฟิสิกส์ในลำดับต่อมา
  กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาในการใช้ควันที่เกิดจากเกลือแกงพ่นเข้าไปในชั้นบรรยากาศบริเวณที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่ระดับความสูงราว 6,000 ฟุต ร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศโดยการเผาสารโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงในรูปแบบพลุสารดูดความชื้น(Hygroscopic flare)จากภาคพื้นดินซึ่งพัฒนามาจากการติดตั้งพลุสารดูดความชื้นเหล่านี้กับอากาศยานของกองทัพอากาศที่เรามีการใช้งานอยู่แล้ว
  "โครงการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย" จึงได้ถูกเริ่มวิจัยขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงฯและศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ ณ บริเวณ ดอยผาน้อย อำเภอจอมทอง ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยได้ทำการติดตั้งเครื่องเผาสารในรูปแบบพลุสารดูดความชื้นเพื่อผลิตควันดี ควันที่มีอนุภาคขนาดเล็กของเกลือแกงที่เหมาะสมในการก่อเมฆเพื่อทำฝนช่วยเหลือพื้นที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 เหตุผลที่เลือกดอยผาน้อยเป็นจุดติดตั้งอุปกรณ์เพื่องานวิจัยครั้งนี้เนื่องจากดอยผาน้อยอยู่ที่ระดับความสูง 4,900 ฟุตจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และระดับปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่ระดับ 5,000-10,000 ฟุต อีกทั้งดอยผาน้อยตั้งอยู่ด้านต้นลมของพื้นที่อำเภอดอยหล่อในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อคาดหวังจะทำฝนให้กับพื้นที่อำเภอดอยหล่อ และอ่างเก็บน้ำบริเวณใกล้เคียงเช่น อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ
หลังจากการติดตั้งเครื่องมือเสร็จเรียบร้อยโดยทีมงานนักวิจัยของศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ และได้รับเกียรติจากนายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)เป็นประธานในพิธีส่งมอบอุปกรณ์ที่จะทำการวิจัยระหว่างศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ และกรมฝนหลวงฯ และชมการสาธิตเครื่องมือดังกล่าว 
  ในวันดังกล่าวได้มีการสาธิตการจุดพลุสารดูดความชื้นจำนวน 6 นัดท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยหมอกและฝนละออง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ภาคเหนือกำลังได้รับอิทธิพลจากพายุโนอึล หลังจากจุดพลุเพื่อปล่อยควันดี ควันที่มีอนุภาคขนาดเล็กของเกลือแกงได้พุ่งลอยขึ้นเข้าไปในบรรยากาศ สักพักหนึ่งฝนก็ตกลงมามีขนาดเม็ดใหญ่ขึ้น และปริมาณมากขึ้นนับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะจุดประสงค์ของงานวิจัยนี้คือการสร้างเม็ดน้ำให้มีจำนวนมากขึ้น ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเม็ดน้ำเหล่านี้จะได้ก่อตัวเป็นเมฆฝนโดยอาศัยอนุภาคเกลือแกงเป็นแกนกลั่นตัวหรือแกนของเมฆ อย่างไรก็ตามจากปรากฏการณ์ฝนตกปริมาณมากขึ้น เม็ดฝนมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับปรากฎการณ์ก่อนจุดพลุสารดูดความชื้นนี้ แต่ยังไม่ได้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทำการตรวจวัด มันก็อาจจะถูกคนเข้ามาคอมเมนต์ว่ามันเป็นเพียงการ"มโน" ไปเท่านั้น ยุคนี้คนยิ่งชอบ"มโน"อยู่ด้วย งานวิจัยฝนหลวงเป็นวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์กันด้วยหลักวิทยาศาตร์จะมาใช้วิธี"มโน"ไม่ได้...
  โครงการวิจัยนี้เราได้กำหนดระยะเวลาวิจัยไว้เป็นระยะเวลา 2 ปีระหว่างปี 2563-2564 โดยวางแผนกำหนดทดลองไว้ในปี 2564 และในปี 2563 กำหนดไว้เพียงการออกแบบเครื่องต้นแบบเท่านั้น แต่นักวิจัยทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องมือต้นแบบชุดนี้ให้นักวิจัยของกรมฝนหลวงฯเพื่อใช้ดำเนินการวิจัยทำฝนให้พื้นที่การเกษตรอำเภอดอยหล่อและแหล่งน้ำในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้
  การวิจัยจึงสามารถเริ่มทำการทดลองได้ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม 2563 และจะได้เริ่มทำการทดลองการใช้เครื่องนี้ได้ใหม่อีกครั้งในปี 2564 ควบคู่กับการเก็บข้อมูลต่างๆด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาเผยแพร่ให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบต่อไป และหากสัมฤทธิ์ผลอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจแล้วโครงการทำฝนโดยการเผาสารจากภาคพื้นสู่ก้อนเมฆจะได้ขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆโดยเฉพาะพื้นที่หลังเขาที่เป็นพื้นที่อับฝน(rain shadow) ซึ่งคอยประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เสมอๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงคอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พี่น้องชาวไทยทุกแห่งหนไป...
เขียนโดย "หลงเมฆ"
#มั่นใจค่อยนำเสนอดีกว่ากล่าวอ้างด้วยมโน
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
ภาพและวีดีโอ