เปลี่ยนการแสดงผล
#ดิน
30 กันยายน 2563 16,974 ครั้ง
#ดิน
  ดินเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญลำดับถัดจากน้ำ เพราะว่าหากไม่มีน้ำย่อมทำการเพาะปลูกไม่ได้ แต่หากไม่มีดินมีเพียงน้ำยังทำการเพาะปลูกได้ เช่น การปลูกพืชในน้ำหรือผักไฮโดรโปนิกซ์ อย่างไรก็ตามการปลูกพืชในน้ำสามารถทำได้กับพืชบางชนิดเท่านั้น ดินจึงยังมีความสำคัญมากๆสำหรับการเพาะปลูก อีกทั้งดินยังถือเป็นองค์ประกอบของโลกที่อยู่เปลือกนอกสุด การก่อสร้างบ้านเรือนก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นดิน ดินมีส่วนประกอบด้วยกัน 4 ส่วนได้แก่
 1. อนินทรียวัตถุ(Mineral Matter) คือส่วนประกอบของแร่ธาตุต่างๆในดินที่เกิดจากการผุพังหรือผุกร่อน ทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพจากปัจจัยทั้งหลายทางธรรมชาติ แร่ธาตุหรืออนินทรียวัตถุเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดลักษณะของเนื้อดิน และเป็นแหล่งอาหารของพืชอีกด้วย
 2. อินทรียวัตถุ(Organic Matter) คือส่วนประกอบที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืชและสัตว์ที่ทับถมกันหรือเรียกว่าฮิวมัส(Humus)รวมทั้งสิ่งมีชีวิตเล็กๆในดิน ไม่ว่าจะเป็นไส้เดือน แมลง ราจุลินทรีย์ต่างๆ อินทรียวัตถุจึงเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของดิน ความร่วนซุย ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตลอดจนการถ่ายเทอากาศ และการระบายน้ำ
 3. น้ำ(Water) คือสารละลายที่แทรกอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดดิน น้ำจะมีความสำคัญในการละลายแร่ธาตุเพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ และน้ำยังเป็นตัวลำเลียงสารอาหารจากรากพืชไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆเพื่อการเจริญเติบโต อีกทั้งยังช่วยรักษาอุณหภูมิของดินไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันอันจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการเจริญเติบโตของพืช
 4. อากาศ(Air) คือ ส่วนของก๊าซต่างๆเช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ที่แทรกตัวอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดดินที่ไม่มีน้ำ นั่นคือถ้าในดินมีน้ำมากจะมีอากาศน้อย ถ้าในดินมีน้ำน้อยอากาศในดินจะมีมาก และอากาศเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในดิน
  จะเห็นว่าโครงสร้างของดินจะมีทั้งแร่ธาตุที่ย่อยสลายมาจากหินรวมกับซากพืชซากสัตว์ที่ย่อยสลายกลายเป็นเม็ดดิน และช่องว่างระหว่างเม็ดดินจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นกับขนาดของเม็ดดินที่มาต่อเรียงกันถ้ายิ่งมีขนาดเล็กคละขนาดกันมากช่องว่างระหว่างเม็ดดินก็จะน้อย ถ้าเม็ดดินขนาดใหญ่มาเรียงกันก็จะทำให้ขนาดช่องว่างใหญ่ขึ้น ความพรุนของดินหรือช่องว่างระหว่างเม็ดดินจึงขึ้นกับชนิดของดินซึ่งมีการจำแนกออกเป็น 3 ประเภทหลักได้แก่
 ⁃ ดินทราย เป็นดินที่ประกอบด้วยทรายตั้งแต่ร้อยละ  70 ขึ้นไป  โดยเนื้อดินมีลักษณะหยาบ เม็ดดินไม่เกาะตัวกัน ทำให้การระบายน้ำได้เร็วมาก จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เหมาะสำหรับปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อย และมีความอดทนสูง เช่น พืชทะเลทราย เป็นต้น
 ⁃ ดินเหนียว   เป็นดินที่มีเนื้อละเอียดแน่น  มีการจับตัวกันอย่างดีทำให้มีช่องว่างระหว่างเม็ดดินน้อย อุ้มน้ำได้ดี  และไม่ยอมให้น้ำซึมผ่านได้ง่าย  แต่การระบายถ่ายเทอากาศไม่สะดวก เหมาะสำหรับปลูกพืชที่ต้องการน้ำมาก เช่น ข้าว และพืชน้ำต่างๆ เป็นต้น
 ⁃ ดินร่วน เป็นดินที่ประกอบด้วย ทราย โคลนตม  และดินเหนียว โดยมีปริมาณดินทรายและดินเหนียวไม่มากนัก   ดินชนิดนี้จะมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินมาก ทำให้น้ำซึมได้สะดวก แต่การอุ้มน้ำน้อยกว่าดินเหนียว เหมาะสำหรับปลูกพืชส่วนใหญ่
จากดิน 3 ประเภทหลักดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อนำมาผสมกันจะทำให้เกิดเป็นดินร่วนปนทราย ดินร่วนปนตะกอนทราย และดินร่วนปนดินเหนียว อีกด้วย ซึ่งแต่ละชนิดก็เหมาะต่อการเพาะปลูกพืชต่างกัน และมีความอุดมสมบูรณ์ต่างกัน
การปรับปรุงบำรุงดินจึงมีความสำคัญอีกประการหนึ่งเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความสมบูรณ์ โดยการปรับปรุงบำรุงดินจะเป็นพิจารณาความเหมาะสมองค์ประกอบหลัก 4 ประการของดินดังกล่าวนั่นเอง
    ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศชั้นนำในระดับโลกในการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาท สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนที่ประชุมองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) ครั้งที่ 144 ระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ณ สำนักงานใหญ่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้มีมติกำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก(World Soil Day) จากข้อมูลเรื่ององค์ประกอบ 4 ส่วนของดินที่มีน้ำอยู่ด้วยนั้น ในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วงไปเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ดินมีความชื้นน้อย ฝนหรือน้ำที่รดลงไปบนดินครั้งแรกๆน้ำเหล่านั้นจะถูกดูดซับไปหมดจนกว่าดินจะอิ่มตัวจึงจะไม่สามารถอุ้มน้ำหรือดูดซับน้ำไว้ได้อีก
  ในช่วงฤดูแล้งและต้นฤดูฝน ฝนที่ตกลงมาจึงไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนหรือมีจำนวนน้อย การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้เขื่อน จึงจำเป็นที่จะต้องทำฝนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ดินในเบื้องต้นจนกว่าดินจะอิ่มตัวด้วยน้ำและไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้อีกก็จะเกิดน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ในทำนองเดียวกันในพื้นที่นาที่ต้องการให้มีน้ำขังในกระทงนานั้น สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีปริมาณน้ำเพียงพอที่เข้านาจนดินอิ่มตัวเสียก่อนน้ำที่เพิ่มเติมลงไปจึงจะเป็นน้ำที่ขังในกระทงนา จะเห็นว่าดินและน้ำเป็นของคู่กันที่เป็นปัจจัยพื้นฐานแห่งการผลิตที่สำคัญ โดยดินก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าน้ำสำหรับสิ่งมีชีวิต เพราะดินต้องเป็นแหล่งเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทั้งอุปโภค บริโภค การเกษตร การปศุสัตว์ การอุตสาหกรรม ฯลฯ อาทิสัตว์เลี้ยงเช่นควาย ก็ต้องพึ่งดินพึ่งน้ำในปลักเพื่อใช้น้ำในปลักในการกินและนอนแช่ปลักเพื่อคลายร้อน แต่ควายบางตัวก็นอนจนเพลินจนจมปลักไม่คิดมาทำประโยชน์ให้กับเจ้าของ...
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#ดินเป็นแหล่งที่จะเก็บน้ำให้สิ่งมีชีวิตสมองเป็นแหล่งเก็บความรู้ให้กับปัจเจกชน
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

ภาพและวีดีโอ