เปลี่ยนการแสดงผล
#จดหมายถึงพ่อ (19)
21 ตุลาคม 2563 166 ครั้ง
จำได้ว่า เกือบ 30 ปีแล้ว ที่ได้อ่านจดหมายจากพ่อ ตอนนั้นข้าพเจ้ายังเป็นเพียงเด็กบ้านนอกที่เข้าไปศึกษาหาความรู้ในเมืองหลวง จดหมายฉบับนั้นเขียนด้วยลายมือของพ่อ ซึ่งข้าพเจ้ายังคงจำเนื้อหาได้ดี โดยเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างมีสติ ซึ่งนึกขึ้นมาได้ทีไร ก็กลั้นน้ำตาซึมไม่ได้ทุกที
ตอนนี้ ข้าพเจ้าได้ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนโดยมิอาจหาความมั่นคงใดๆในชีวิตได้เลย ยิ่งสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างปัจจุบัน และยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยมหันตภัยไวรัสโควิด 19 อย่างไม่ปราณี การรักษาชีวิตมาถึงตรงนี้ได้ ก็ดีถมแล้ว แต่ในหลายๆครั้ง ทั้งยามหลับและตื่น ข้าพเจ้ากลับคิดถึงพ่อขึ้นมา คิดถึงเรื่องเก่าๆที่ผ่านมา ทั้งดีและร้าย สุขและเศร้า โดยคิดไปว่า ถ้าเป็นพ่อ ท่านจะทำอย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้? และเป็นที่น่าประหลาดใจยิ่ง ที่ดูเหมือนทุกวันนี้ มีเครื่องมือในการสื่อสารกันอย่างมากมายหลายช่องทาง แต่ข้าพเจ้ากับพ่อ กลับเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านั้น และมีแนวโน้มห่างเหินกันไปทุกขณะ ซึ่งเวลาของแต่ละคนก็เหลือน้อยลงไปทุกที เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าประสงค์ที่จะสื่อสารด้วยลายมือผ่านจดหมาย ซึ่งครั้งหนึ่ง พวกเราเคยใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพมาแล้ว
เนื้อความในจดหมาย ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะไม่กล่าวถึงความระทมทุกข์ของชีวิตที่ผ่านมา ด้วยเกรงว่า ท่านอาจกังวลจนล้มป่วยไป โดยพยายามถ่ายทอดถึงสิ่งเตือนใจที่ท่านเคยปรารภไว้กับข้าพเจ้าเสมอๆ
“การมีความรู้มากๆเรียนสูงๆ หาใช่เพื่อประโยชน์ด้านทรัพย์สินเงินทองแต่เพียงถ่ายเดียวไม่ เราต้องตอบแทนสังคมด้วย ยิ่งในฐานะของผู้ที่มีความรู้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องให้ ต้องคืน สู่ส่วนรวมด้วย แน่นอนว่า เงินทอง เป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เอาแค่พอดี พอเหมาะ พอควร หรือที่ในหลวง ร.9 ดำริไว้ ‘พอเพียง’ คือถูกที่สุดแล้วกับการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน”
ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านรับรู้ว่า ได้ตระหนักถึงสิ่งที่ท่านเคยบอกกล่าว และมันคงไม่สายเกินไปที่จะน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อแก้ไขวิกฤติทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม โดยเฉพาะช่วงที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาดอย่างหนักนี้ เราและเพื่อนมนุษย์ต้องรอดพ้นและผ่านมันไปด้วยกันอย่างมีสติ
สุดท้าย ข้าพเจ้าคาดหวังว่า สิ่งที่ได้ถ่ายทอดออกมานี้ จะทำให้พ่อได้รู้สึกภาคภูมิกับลูกชายที่ไม่เป็นโล้เป็นพายอะไรว่า “สักวันหนึ่ง มันคงจะเข้าใจ” และดูเหมือนว่า วันนั้น มันกำลังมาถึงแล้ว ต้องขอบคุณจดหมายฉบับเมื่อ 30 ปีก่อน ไม่เช่นนั้น คงไม่มีจดหมายฉบับนี้เป็นแน่
เขียนโดย "บุญชู"
ภาพและวีดีโอ