เปลี่ยนการแสดงผล
#จดหมายถึงพ่อ (29)
2 พฤศจิกายน 2563 117 ครั้ง
#จดหมายถึงพ่อ (29)
  ทำไมนะ ... ทุกครั้งที่ผมฝังรากกล้าลงบนผืนแผ่นดิน ใจของผมมักอิ่มอุ่นเสมือนได้สัมผัสมือของใครบางคน คนที่เคยจับมือผมเพาะปลูกท่ามกลางแดดร้อนระอุ คนที่เคยพาผมนำครุถังหิ้วน้ำจากสระขึ้นมาเท รดกล้าใหม่ให้ชุ่มชื่น คนที่บอกว่าสองมือที่กร้านกับดินที่แก่นนี่แหละจักช่วยต่อลมหายใจโลกและมุงหลังคาฟ้าให้เป็นสีเขียวอีกครั้ง และยังจำเสื้อสีหม่นตัวเก่งกับกางเกงขาก๊วยตัวเก่าเปียกปอนเหงื่อได้ถนัดตา แม้วันนี้จะจักเหลือแต่ภาพทรงจำ แต่คลับคล้ายว่าผืนป่านั้นกำลังแตกกอขจีในใจผม บนชื่อ “บำนาญชาวนา”
  ชายที่ผมกำลังกล่าวถึงนั้นท่านชื่อว่าคุณพ่อบุญตา บุตรโคตร อายุในวัย ๖๕ ปี (๒๕๕๒) เป็นพ่อฮักของกระผมเอง เมื่อครั้งที่ผมเป็นนิสิต จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีโอกาสร่วมออกค่ายมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนในโครงการ “ค่ายคุณธรรมนำชีวิตเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อปี ๒๕๕๒ ณ บ้านหนองบัวแปะ หมู่ที่ ๑ ตำบลส่างแซ่ง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ต้องยอมรับว่าค่ายนี้พลิกชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มัวมุ่งวิ่งวนแต่ในตำราหน้ากระดาษอย่างเอาเป็นเอาตายกับวิชาการ ทะยานตัวเองมาเรียนรู้โลกแห่งความจริง ในแบบวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พอเพียงและสุขใจ
  พ่อบุญตา เคยเล่าให้ผมฟังบ่อยครั้งขณะที่ผมฝังตัวเก็บข้อมูล กิน นอน อาศัยเป็นลูกในบ้านว่านในสวน ว่า “บำนาญชาวนา” คือ การสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคง เพื่อเป็นมรดกตกทอดไว้ให้แก่ลูกหลาน ด้วยการปลูกป่าสร้างแหล่งอาหารถาวรให้กับชุมชน และสร้างฐานรายได้แบบยั่งยืนบนวิถีพึ่งพาธรรมชาติเกื้อกูลกัน คำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าคนในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้นโดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของตนนอกเหนือจากการทำสวนและไร่นา มาปลูกป่าไม้ยืนต้นไว้ เช่น ต้นพะยูง ประดู่ ต้นแดง กระถินณรงค์ ชาด ยางนา เป็นต้น นอกจากจะได้ร่มเงาแล้วยังเป็นเสมือนภัตตาคารอาหารชั้นเลิศ เพราะบนพื้นใบไม้ทับถมต่างมีเห็ดนานาชนิดเกิดตามฤดู บนกิ่งก้านยังมีไข่มดแดงให้แหย่สอยมาปรุงเป็นอาหารและสร้างรายได้หมุนเวียนไป
  กว่า ๑๑ ปี (๒๕๕๒ – ๒๕๖๓) ที่ผมยังแวะเวียนเรียนรู้ในหมู่บ้านแห่งนี้เสมือหนึ่งถูกมนต์มัดใจ พ่อบุญตาท่านเคยสอนผมเสมอว่า “ลูกเอ้ย แม้ฝนที่ตกลงมาจากฟากฟ้า เป็นทองคำทุกเม็ด ก็ยังไม่พอกับความต้องการของมนุษย์ดอก ถ้าหากมนุษย์ไม่รู้จักคำว่าพอ ฉะนั้นเราควรสร้างความยั่งยืนฝากไว้ให้โลกบ้าง ” พ่อบุญตาในวัย ๗๕ ปี (๒๕๖๒) แม้จักดูอ่อนโรยแต่จิตใจของท่านยังกล้าแกร่ง แววตายังคงฉายวาวประกายแห่งนักสู้ที่เต็มเปี่ยม ผมถามพ่อว่าทำไมพ่อจึงยืนหยัดสู้ปลูกผืนป่าทั้งที่พ่อชรามากแล้ว พ่อนั่งนิ่งก่อนจะเบือนหน้าไปที่รูปภาพหนึ่งห้อยแขวนอยู่ข้างฝากระท่อม พร้อมกล่าวอย่างชัดเจนว่า“พ่อมีในหลวง ร.๙ เป็นแบบอย่างที่ดี พระองค์ยังไม่ทรงเหนื่อยแล้วเราจะเหนื่อยได้อย่างไร” ... ๒๓ ธันวาคม๒๕๖๒ ไม่มีพ่ออีกแล้ว เหลือเพียงมรดกจากผืนดินและคำสั่งสอนที่ดีงามฝากไว้ตกทอดเป็น “บำนาญ” สถิตย์ในใจลูกนิจนิรันดร์

เขียนโดย "ภาสกร บาลไธสง"
ภาพและวีดีโอ