เปลี่ยนการแสดงผล
#จดหมายถึงพ่อ ( 33 )
3 พฤศจิกายน 2563 170 ครั้ง
#จดหมายถึงพ่อ ( 33 )

เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ได้ยินคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ยังคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การปลูกผัก จนเติบโตมา ได้ศึกษาพระราชดำรัสของพ่อหลวงที่พระราชทาน ในงานพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดั่งเนื้อหาใจความพระราชดำรัสหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ที่ว่า
“…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนเป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับ ต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นได้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศ และของประชาชน โดยสอดคล้องด้วย จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวในที่สุด…”
เมื่อได้ศึกษา “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างลึกซึ้ง จึงพบว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “ปรัชญา” ไม่ใช่ทฤษฎี สามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกมิติ และทุก ๆ เรื่องในชีวิต อาทิ ในชีวิตของเรา เราตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้ว่า เราอยากมีบ้าน มีรถ มีเงินเดือนอยู่ที่จุดหนึ่งซึ่งเป้าหมายของเงินเดือนนี้คือสิ่งที่เรานึกคิดว่าจะเป็นจุดที่ “พอเพียง” ต่อการใช้ชีวิตของเราในอนาคต และพอวันนึงที่เรามีทุกอย่างที่เราตั้งเป้าหมายไว้เรากลับค้นพบว่าสิ่งที่เรามี ยังไม่พอ นั่นเป็นเพราะว่าการกระทำของเรายังไม่ทันกับความคิดที่พอเพียงที่เกิดขึ้นในใจก่อนหน้า ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดการใช้ชีวิตที่ “เพียงพอ” นั่นเอง ดังนั้น การรักษาสมดุลของชีวิต การรู้จักพอ พออยู่ พอกิน พอใช้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องฝึกฝน ฝึกคิด ฝึกทำ จนทำเป็นปกติ ในทุก ๆ จังหวะของชีวิตจึงจำเป็นต้องย้อนกลับมาถามตนเอง ว่าสิ่งที่เรากำลังทำ คุ้มค่าไหม ทำไปทำไม มีภูมิคุ้มกันในการทำสิ่งเหล่านั้นมากแค่ไหน ต้องใช้ความรู้และคุณธรรมอะไรบ้าง ส่งผลดีต่อสังคม ชุมชน มากแค่ไหน เมื่อเราเข้าใจแก่นของความพอเพียงตามที่พ่อสอนแล้ว เราจะพบว่า ความพอเพียงเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา และจะมีความสุขอยู่ที่ตัวเราเช่นกัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพ่อพยายามพร่ำสอนความพอเพียง และเน้นย้ำเรื่องนี้มาโดยตลอด อีกทั้งพระองค์ยังดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทรงยึดมั่นในความพอเพียงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ด้วยความเป็นห่วงใยต่อคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทย พระองค์จึงพยายามพร่ำสอนเรื่องความพออยู่ พอกิน เพื่อให้หลุดพ้นจากพิษเศรษฐกิจ ยิ่งในสภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยแล้ว การตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียงจะทำให้เราพบความสุขด้วยความเพียงพอตลอดไป

เขียนโดย "พะนิ"
ภาพและวีดีโอ