เปลี่ยนการแสดงผล
#ไม่ใช่เมฆอย่าอ้วน
3 เมษายน 2564 261 ครั้ง
#ไม่ใช่เมฆอย่าอ้วน

         ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นโครงการพระราชดำริฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำ

         พระองค์ทรงพระราชทานตำราฝนหลวงในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกสำหรับ 6 ขั้นตอนการทำฝนหลวงลงใน 1 หน้ากระดาษ A4 ซึ่งเป็นขั้นตอนตั้งแต่การก่อเมฆ หรือก่อกวน เลี้ยงเมฆให้อ้วน โจมตี และเสริมการโจมตี

         การก่อกวนหรือก่อเมฆ คือการนำสารฝนหลวงไปเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมบนท้องฟ้าเปลี่ยนจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้เป็นเม็ดน้ำมากขึ้นแล้วรวมกันเป็นเมฆ

         หลังจากเมฆเกิดการรวมตัวกันมากขึ้นก็จะเริ่มพัฒนาก้อนใหญ่ขึ้น ฟูขึ้น แต่ถ้าเราเอาอาหารไปเลี้ยงเมฆ เมื่อหลังจากเมฆกินอาหารที่เป็นสารฝนหลวงเข้าไปก็จะเริ่มเติบโตมากขึ้น อ้วนขึ้น เหมือนกับคนที่กินอาหารเข้าไปมากๆก็จะอ้วนขึ้นเรื่อยๆนั่นเอง

         เมื่อเมฆอ้วนจนได้ที่และอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย เราก็จะจัดการเมฆเหล่านี้ให้ตกเป็นฝน เมฆเหล่านั้นก็จะผอมลงเรื่อยๆและสลายลงกลายเป็นฝนทั้งหมด

         การที่จะขึ้นไปจัดการกับเมฆเหล่านี้เราต้องอาศัยอากาศยานเป็นพาหนะนำทาง อากาศยานแต่ละลำแต่ละรุ่นมีศักยภาพในการบรรทุกน้ำหนักไม่เท่ากัน แต่มีข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักบรรทุกเหมือนกันเพื่อความปลอดภัยในการบิน ในขณะที่บุคคลการที่ขึ้นไปทำงานกับอากาศยานต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ แต่การตรวจเวชศาสตร์การบินนั้นจะทำการตรวจเพียงปีละหนึ่งครั้ง ดังนั้นบางคนในระหว่างปีก็ไม่ได้มีการดูแลตนเองดีนัก บางคนน้ำหนักเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้นตามเมฆที่ไปเลี้ยงให้อ้วน น้ำหนักตัวยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งไปเบียดบังน้ำหนักสารฝนหลวงที่จะถูกบรรทุกขึ้นไปจัดการกับเมฆเท่านั้น

         กรมฝนหลวงฯจึงมีนโยบายจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพบุคลากรให้ห่างไกลโรคกลุ่ม NCDs(Non-Communicable Diseases) คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวกับนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การเจริญเติบโตของโรคจะค่อยๆ สะสมอาการทีละนิด ค่อยๆ เกิดและค่อยๆ ทวีความรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้องและทันเวลา สุดท้ายจะเกิดอาการเรื้อรังในที่สุด เช่น เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจและสมอง ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง เป็นต้น

         นั่นหมายความว่าเรากำลังต้องกำจัดโรคอ้วนลงพุงกันนั่นเอง แต่เราจะทราบว่าเราอยู่เกณฑ์โรคอ้วนลงพุงหรือไม่นั้น เราสามารถประเมินได้จากค่าดัชนีมวลกาย(Body Mass Index, BMI)

          ค่า BMI คำนวณจาก ค่าของน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ยกกำลัง 2 และแสดงในหน่วย กก./ม2 โดยค่า BMI จะแสดงความหมายดังนี้
ค่า BMI < 18.5 แสดงถึง น้ำหนักน้อยหรือผอม
ค่า BMI 18.5 – 22.90 แสดงถึง อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ค่า BMI 23 – 24.90 แสดงถึง น้ำหนักเกิน
ค่า BMI 25 – 29.90 แสดงถึง โรคอ้วนระดับที่ 1
ค่า BMI 30 ขึ้นไป แสดงถึง โรคอ้วนระดับที่ 2

         ลองคำนวณกันดูนะว่าตอนนี้เราอยู่ในเกณฑ์ไหนแล้ว หลายๆคนอาจจะเข้าเกณฑ์น้ำหนักเกิน หรือเริ่มขยับเข้ามาใกล้โรคอ้วนระดับที่ 1 หรือระดับที่ 2 ทุกทีๆ หากเป็นอย่างนี้ก็น่ากังวลนะ เพราะพุงยิ่งโตยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่มNDCs มากขึ้น

         อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้หนุ่ม สาว ขาว size L และXL ทุกคนนะ เห็นได้ข่าวว่าโดนสั่งให้มีกิจกรรมออกกำลังกายแบบเร่งด่วน เพื่อจะปรับโฉมของคนกรมฝนหลวงฯให้กลับมาสวย หล่อกันทุกคน

         บุคลากรในส่วนกลางมีกิจกรรมเต้นแอโรบิคกันทุกเย็น ก็อย่าเต้นกันรุนแรงมากนักนะเกรงใจพื้นกันสักหน่อย เพราะคนที่เต้นล้วนแต่size XL ...

         ส่วนคนที่ออกหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงก็มีการรวมตัวกันวิ่ง ฝึกวินัยการเรียกแถว การรายงานตัว หวังว่าต่อไปแต่ละคนคงจะเป๊ะทั้งหุ่น และการายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชาแบบรื่นไหล ไม่ติดขัดเพราะได้รีดไขมันออกจากร่างกายและลำคอไปหมดแล้ว...

         แต่อยากถามจริงๆ "บอกซิเออเธอจะเอาเท่าไหร่ เอาเท่าไรไม่อ้วนเอาเท่าไร...ระวังเพื่อนจะล้อแย่เลย..." เพราะเธอไม่ใช่เมฆ

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#วินัยสร้างสุขภาพที่ดี
ภาพและวีดีโอ