เปลี่ยนการแสดงผล
#พลังแห่งความร่วมมือ
4 เมษายน 2564 194 ครั้ง
หลายปีที่ผ่านมาพวกเราคงได้พบเจอเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน และนับจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ไฟไหม้ป่าที่รุนแรงทั้งในทวีปออสเตรเลีย อเมริกา และ แคนาดา ประเทศไทยประสบปัญหามหาอุทกภัยแม้แต่สนามบินดอนเมืองก็ยังไม่รอดพ้น พายุลูกเห็บที่รุนแรงในประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมไปถึงปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในหลายๆประเทศรวมทั้งบ้านเรา
สภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปดังที่กล่าวไปนั้นล้วนแต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ที่ขาดศีลธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การทำลายแหล่งน้ำ การสร้างมลภาวะทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม และรถยนต์ ฯลฯ มนุษย์จึงได้ชื่อว่าเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย
สำหรับเรื่องภัยแล้งนั้น บ้านเราช่างโชคดียิ่งนัก ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงมีพระอัจริยภาพ และน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ได้ทรงคิดค้นหาหนทางที่เอาชนะธรรมชาติ ในการสร้างฝนมาช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในช่วงฝนทิ้งช่วงให้แก่ปวงชนชาวไทย แต่การสร้างฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงนั้นต้องอาศัยธรรมชาติเป็นตัวตั้ง เพราะการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ
เงื่อนไขทางธรรมชาติที่สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน ปัจจัยหนึ่งคือ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ซึ่งควรมีค่ามากกว่า 60 % ขึ้นไป
ความชื้นในอากาศนั้นส่วนใหญ่มาจากน้ำทะเล และแหล่งน้ำต่างๆที่ระเหยกลายไอขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งจากการคายน้ำของพืชอีกด้วย ดังนั้นยิ่งมีต้นไม้มากเท่าไหร่ มีป่าไม้มากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยสร้างความชุ่มชื้นในอากาศได้มากเท่านั้น โอกาสในการทำฝนหลวงก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย
กรมฝนหลวงฯได้เล็งเห็นความสำคัญของความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ จึงริเริ่ม "โครงการปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้นและโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศเพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ" โดยเป็นความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างกรมฝนหลวงฯ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เหล่าทัพ และภาคประชาชน
กรมป่าไม้ได้ให้ความร่วมมือในการอนุเคราะห์กล้าไม้ และเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่างๆ กรมอุทยานแห่งชาติฯได้กำหนดพื้นที่เป้าให้กรมฝนหลวงฯนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้ถูกปั้นห่อหุ้มด้วยดินเหนียวจากความความร่วมมือของเหล่าทัพและประชาชน ติดขึ้นไปกับอากาศยานที่ไปปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน โดยหวังว่าต้นไม้เหล่านี้จะเจริญเติบโตขึ้นมาช่วยเราสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำฝนหลวงให้ดียิ่งขึ้น
จะเห็นว่าจากความร่วมมือทั้งภาครัฐและประชาชนในการทำโครงการดังกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสำเร็จของโครงการเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีที่ดีระหว่างกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการให้มีความรักและหวงแหนต้นไม้ ที่ตนได้มีส่วนร่วมในการปลูกภายใต้โครงการนี้อันจะนำมาซึ่งการอนุรักษ์ต้นไม้ และป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน
ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากต้นกล้าที่ปลูกและเมล็ดพันธุ์ที่โปรยไปในพื้นที่ป่าโทรมเสื่อมเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นมาทำหน้าที่ช่วยสร้างความสมดุลทางธรรมชาติให้กลับคืนมา และช่วยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้สูงขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการทำฝนหลวงได้มากยิ่งขึ้น นับเป็นพลังแห่งความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ที่ได้นำเอาต้นไม้มาให้ความร่วมมือในการเยียวยาโลกที่ได้ถูกทำลายไปด้วยน้ำมือมนุษย์อย่างพวกเรา จึงอยากเชิญชวนพวกเราทุกคนจงพร้อมใจกันร่วมมือในการปลูกต้นกันเพียงคนละหนึ่งต้นต่อปี รับรองได้ว่าอีกไม่นานโลกของเราจะกลับมาร่มเย็นน่าอยู่ดังเดิม
ภาพและวีดีโอ