เปลี่ยนการแสดงผล
#มรดกอันล้ำค่า
18 พฤษภาคม 2564 135 ครั้ง
#มรดกอันล้ำค่า
ชีวิตมนุษย์ในทางพุทธศาสนานั้นเริ่มตั้งแต่ไข่ของมารดาถูกปฏิสนธิกับอสุจิของบิดา ซึ่งทางวิทยาศาสตร์จะเรียกว่าไซโกต(Zygote)และพัฒนาเป็นตัวอ่อน(Embryo) ฝังตัวที่ผนังมดลูกและใช้ระยะเวลาในการพัฒนาต่อเนื่องถึง 9 เดือนเพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์ ก่อนที่จะคลอดออกมาดูโลกภายนอก

ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในครรภ์มารดานั้น ผู้เป็นมารดาต้องคอยประคบประหงมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ คอยที่จะกินอาหารบำรุงเพื่อหวังที่จะให้ลูกคลอดออกมาสมบูรณ์มีร่างกายครบ 32 ประการ  จะเห็นว่าพ่อและแม่เรานั้น ได้มอบมรดกอันสำคัญต่อชีวิตของเราด้วยร่างกายที่สมบูรณ์ครบ 32 ประการยกเว้นผู้ที่พิการแต่กำเนิด แต่หลังจากนั้นแต่ละคนจะรักษามรดกทางร่างกายที่พ่อแม่ได้ให้มาแตกต่างกัน จึงเป็นสาเหตุของรูปร่างและประสิทธิภาพของอวัยวะต่างๆในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป บางคนมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง บางคนอ้วน บางคนผอม บางคนมีโรคประจำตัว ซึ่งล้วนแต่เกิดจากการไม่มีวินัยในเรื่องการกิน และการออกกำลังกายของตนเอง

ในเวลาปีกว่าๆที่ผ่านมาโลกเราได้เผชิญกับเชื้อโรคอุบัติใหม่ที่ชื่อว่าไวรัสโคโรน่า หรือโรคโคโรน่า-19 เป็นเหตุให้คร่าชีวิตมนุษย์โลกไปเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดในเร็ววัน จากสถิติของผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และคนอ้วน จึงทำให้หวนคิดในเรื่องการรักษามรดกที่พ่อแม่มอบมาให้แก่เราตอนถือกำเนิดคือร่างกายครบ 32 ประการ แต่เราก็มาทำตัวเราเอง ให้มีโรคประจำตัว ให้อ้วนจนเกินเยียวยาจนนำมาซึ่งโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ด้วยเหตุจากการทำตามใจและตามปากของตนเอง ตัวเราจึงเหมือนยิ่งกว่าไก่ได้พลอย เพราะไก่ได้พลอยไปยังกลืนกินเข้าไปเพื่อช่วยการย่อยอาหารในกึ๋นได้ ถือว่ายังได้ใช้ประโยขน์

ขณะที่มรดกอันล้ำค่าที่ชาวไทยและชาวโลกได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นั้นคือ"ตำราฝนหลวง" ตำราฝนหลวงพระราชทานเกิดจากการสังเคราะห์ประสบการณ์ในการปฏิบัติการฝนหลวงในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกในหนึ่งหน้ากระดาษA4 และได้ถูกน้อมนำมาถือปฏิบัติโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำในเขื่อน การบรรเทาไฟป่าและหมอกควัน และการบรรเทาและยั้บยังพายุลูกเห็บ มาอย่างต่อเรื่องเป็นเวลาหลายสิบปี

อย่างไรก็ตามสภาพอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นการปฏิบัติการในพื้นที่เปิดไม่สามารถควบคุมตัวแปรต่างๆในระหว่างการปฏิบัติการได้ ไม่ว่าจะเป็นความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ กระแสและทิศทางลม พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่จะส่งผลต่อการยกตัวของมวลอากาศ 

ดังนั้นผู้ที่ก้าวเข้ามาในการสนองโครงการพระราชดำริฝนหลวง จำเป็นต้องศึกษาเพื่อเข้าใจต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างดี และที่สำคัญจะต้องเข้าใจในรายละเอียดในตำราฝนหลวงพระราชทานอย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอดให้สามารถที่จะชนะเงื่อนไขของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ในการบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิโดยการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อจะได้ไม่ถูกครหาว่าเป็นแค่เพียงไก่ได้พลอย

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#การรักษานั้นยากกว่าการได้มา
ภาพและวีดีโอ