เปลี่ยนการแสดงผล
กว่าจะเป็นแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ (ตอนที่ ๒)
24 พฤษภาคม 2564 350 ครั้ง
กว่าจะเป็นแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ (ตอนที่ ๒)

#ปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการทำงาน เพราะการทำฝน สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือต้นทุนความชื้นในธรรมชาติที่มากเพียงพอ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ จึงเป็นโจทย์ท้าทายการทำงานที่สำคัญ เพราะการทำฝนที่ต้องใช้สภาพอากาศเป็นตัวตั้ง เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศลดลง ลักษณะการเคลื่อนตัวของมวลอากาศในแต่ละช่วงเวลาและช่วงฤดูกาลมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงมีผลทำให้การคาดการณ์แนวโน้มทั้งก่อนและหลังขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงการวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะขึ้นบินทำงาน เป็นไปด้วยความยากลำบาก

#ไม่เพียงเท่านั้น ปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 เป็นอีกหนึ่งช่วงปีที่การทำงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยากเข้าขั้นวิกฤติ เพราะไหนจะปัญหาจากสภาพอากาศ และไหนจะปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด 19 ที่ระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าและยังไม่มีทีท่าว่าจะควบคุมให้ยุติลงได้ ทุกอย่างรุมเร้าเข้ามาพร้อมกันรอบด้าน ทำให้การก้าวเท้าออกจากบ้านเพื่อไปขึ้นบินทำฝนแต่ละครั้ง ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก จะหยุดทำงานก็ไม่ได้เพราะพี่น้องประชาชนยังมีความต้องการน้ำอย่างต่อเนื่อง 

#ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนมหันตภัยที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาใกล้ตัว ไม่สามารถปล่อยทิ้งเอาไว้ได้ ในแต่ละปีพวกเราทีมทำแผนจึงต้องรวมกลุ่มระดมสมอง ร่วมกันคิดเร่งหาวิธีการแก้ไขปัญหา วิเคราะห์ทบทวนวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ และแผนงานโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะสามารถวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

#พวกเราชาวกรมฝนหลวงและการบินเกษตรทุกคน ตระหนักตัวเองเสมอว่า พวกเราเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของหน่วยงานที่เป็นผู้สืบทอดภารกิจด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมมนารถบพิตร หน้าที่หลักของพวกเราทุกคนคือการสืบสาน รักษา ต่อยอดในสิ่งที่องค์พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างไว้ ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป ทำอย่างไรจึงจะบริหารจัดการน้ำบนฟ้ามาสู่น้ำบนดินได้อย่างมีประสิทธิภาพตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้คลี่คลายความทุกข์จากปัญหาการขาดน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร ตามที่องค์พ่อหลวงทรงเคยตั้งปนิธานเอาไว้ตั้งแต่เริ่มแรก  

#เราจึงเริ่มต้นวางเป้าหมาย ในการขับเคลื่อนองค์กร โดยดำเนินการภายใต้แนวทาง 4 ด้านหลัก ได้แก่

ด้านที่ ๑ : #เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติเชิงพื้นที่ เป้าประสงค์ที่ต้องการคือ พื้นที่ประสบภัยแล้งและภัยพิบัติได้รับการแก้ไข ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ : การบริหารจัดการด้านการดัดแปรสภาพอากาศเชิงพื้นที่ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนสัญญาใจที่บอกให้รู้ว่า เราจะพยายามดูแลทุกพื้นที่ในความรับผิดชอบ ที่ได้ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติอย่างดีที่สุด ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดที่มีในปัจจุบัน

ด้านที่ ๒ : #เพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ เป้าประสงค์ที่ต้องการคือ การดัดแปรสภาพอากาศได้รับการพัฒนา ดำเนินการภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ ๑) สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ ๒) บูรณาการความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศ และ ๓) พัฒนาศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ฝนหลวงพระราชทาน โดยสิ่งที่เราพยายามจะทำคือ การมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดงานวิจัย คิดค้นหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเลือกใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ฝนหลวงพระราชทาน เพราะพวกเรามุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ตำราที่ใช้ในการทำฝน หรือที่เรียกว่า “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคิดค้น ให้ทุกคนในโลกได้รับรู้และร่วมภาคภูมิใจ

ด้านที่ ๓ #เพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการด้านการบิน เป้าประสงค์ที่ต้องการคือ การบริการด้านการบินมีประสิทธิภาพ ดำเนินการภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ ๑) ยกระดับมาตรฐานการบินเกษตร ๒) การบริการอากาศยานทางเลือก และ ๓) พัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการบินดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ฝนหลวงพระราชทาน สิ่งที่ต้องการทำคือ การยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านการบิน ทำให้ผู้รับบริการด้านการบินมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และพึงพอใจ และที่สำคัญสร้างศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกบินให้กับนักบินทำฝนและผู้ที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ

ด้านที่ ๔ : #พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ เป้าประสงค์ที่ต้องการคือ เสริมสร้างองค์การให้มีขีดสมรรถนะสูง ดำเนินการภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ ๑) พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากร ๒) พัฒนาองค์การสู่ระบบราชการ ๔.๐ และ ๓) ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แนวพระราชดำริ สิ่งที่ต้องการทำคือ การเร่งปรับศักยภาพพื้นฐานของหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน ระบบงาน การจัดการ รวมทั้งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้พร้อมสำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงาน และสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลเชิงระบบกับหน่วยงานภายในและภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทานในอนาคต

#ตลอดระยะเวลา8ปี ในการทำงาน ของพวกเราชาวกรมฝนหลวงและการบินเกษตรทุกคน พวกเรายอมเหนื่อยเพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกันคือ สามารถปฏิบัติภารกิจในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ทันเวลา เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

#ความสำเร็จคงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีกระบวนการจัดทำแผนที่ดี ไม่มีพี่น้องชาวกรมฝนหลวงและการบินเกษตรคอยให้ความร่วมมือในการผลักดันการขับเคลื่อนงานอย่างจริงจัง รวมถึงไม่มีเครือข่ายพันธมิตรต่าง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน คอยสนับสนุนช่วยเหลือ ถ้าเปรียบชีวิตเป็นเหมือนการเดินทาง วันนี้พวกเราเดินทางผ่านกาลเวลา เลยจุดเริ่มต้นมาไกลมากแล้ว จากหน่วยงานระดับกองที่บางคนแทบไม่รู้จัก ภายในระยะเวลา 8 ปี เราสามารถรวมพลังสร้างตัวเองจนเติบโตเป็นที่รู้จักได้ ก็เพราะการทำงานเป็นทีม และความร่วมแรงร่วมใจของพวกเราทุกคน ซึ่งทุกท่านสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศทุกเล่มของกรม ได้ตามลิงค์ที่แนบนี้ https://www.royalrain.go.th/royalrain/Page_group.aspx...

เขียนโดย "น้ำตาฟ้า"
#ความสำเร็จอยู่ที่การยอมเรียนรู้ไม่หยุดนิ่งและไม่ยอมแพ้
ภาพและวีดีโอ