เปลี่ยนการแสดงผล
#ต้นไม้กับกาฝาก
28 พฤษภาคม 2564 138,282 ครั้ง
#ต้นไม้กับกาฝาก
โลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันไป แต่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันอย่างสมดุล เกิดความสัมพันธ์กันเป็นระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต
ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตถูกจำแนกออกเป็น 6 รูปแบบดังนี้

 1. ภาวะพึ่งพาอาศัย เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เช่น โปรโตซัวในลำไส้ปลวก ภายในโปรโตซัวจะมีแบคทีเรียที่สามารถสร้างเอนไซม์เซลลูเลสที่สามารถย่อยไม้ให้ปลวก ส่วนปลวกจะให้ที่อยู่อาศัยและอาหาร ซึ่งก็คือ เซลลูโลส แก่โปรโตซัว

 2. ภาวะได้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่อยู่ร่วมกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่สามารถแยกออกจากกัน เช่น นกเอี้ยงกับควาย นกเอี้ยงจะกินปรสิต เช่น เห็บ ไร ที่อยู่บนตัวควาย ซึ่งควายจะได้ประโยชน์เนื่องจากปรสิตที่ก่อความรำคาญถูกกำจัด ขณะเดียวกันนกเอี้ยงก็จะได้รับอาหารจากการกินเห็บ ไร ที่อยู่บนตัวควาย

 3. ภาวะอิงอาศัยหรือภาวะเกื้อกูล เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์ ส่วนอีกฝ่ายไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ใดๆ เช่น นกกับต้นไม้ใหญ่ นกจะทำรังบนต้นไม้ใหญ่ ทำให้ได้ที่อยู่อาศัย ส่วนต้นไม้นั้นไม่เสียประโยชน์

 4. ภาวะปรสิต เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกัน โดยที่จะมีฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์จากการเป็นผู้ถูกอาศัย เรียกว่า  โฮสต์ และจะมีอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการไปอาศัยอยู่กับโฮสต์ เรียกฝ่ายที่ได้ประโยชน์ว่า ปรสิตเช่น กาฝากกับต้นมะม่วง รากของกาฝากจะชอนไชไปจนถึงท่อน้ำและท่ออาหารของต้นมะม่วง จากนั้นกาฝากจะดูดน้ำและอาหารจากต้นมะม่วงที่มันไปอาศัยอยู่ ส่งผลให้น้ำและอาหารไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการเจริญเติบโตของต้นมะม่วง

 5. ภาวะล่าเหยื่อ เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกัน โดยฝ่ายที่เป็นผู้ล่าจะเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์ ส่วนผู้ถูกล่าหรือเหยื่อจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ เช่น สัตว์กินพืช สัตว์กินสัตว์ 

 6. ภาวะแก่งแย่ง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเดียวกันในการดำเนินชีวิต จึงทำให้ภาวะแก่งแย่งเป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่อยู่ร่วมกันโดยต้องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้แหล่งทรัพยากรนั้นมาเป็นของตน ซึ่งส่งผลเสียแก่ทั้งสองฝ่าย เช่น เสือและสิงโตต่อสู้กันเพื่อแย่งอาหาร

จะเห็นว่าโลกใบนี้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกัน มีพฤติกรรมความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน โดยทุกสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่บนพื้นฐานการเอาตัวรอด บางความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างเกื้อกูล มีความสุขร่วมกัน แต่บางความสัมพันธ์ก็ได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวย่อมทำความเดือดร้อนหรือความทุกข์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อความสุขของตนเอง หากเปรียบองค์กรเหมือนต้นไม้ใหญ่ กิ่งก้านก็เสมือนกลุ่ม กอง/สำนัก ต่างๆ ส่วนใบไม้นั้นเปรียบเสมือนบุคลากรที่มีทั้งเก่าและใหม่ ที่ผลิออกมาช่วยกันสร้างอาหารบำรุงลำต้นที่เปรียบเสมือนตัวองค์กรที่มีรากเหง้าเป็นพื้นฐานองค์ความรู้จากบรรพบุรุษให้เกิดความเจริญงอกงาม

ต้นไม้ใหญ่ย่อมมีสิ่งมีชีวิตมาพึ่งใบบุญ ไม่ว่าจะอาศัยร่มเงาเป็นที่พักอาศัย อาศัยยอด ดอก ผล เป็นอาหาร ในขณะที่สัตว์บางชนิดเช่น นกได้ช่วยจิกกินหนอนที่มาคอยทำลายต้นไม้ต้นนี้ นับเป็นการอยู่ร่วมกันแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งนกและต้นไม้ย่อมยิ้มได้ แต่ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้ย่อมต้องอาศัยน้ำฝนจากฟ้าเพื่อมาชโลมให้เกิดความชุ่มชื้นและนำไปหล่อเลี้ยงลำต้นและใบให้งอกงามและใช้ในการปรุงอาหาร น้ำฝนเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานภายนอกที่คอยสนับสนุนองค์กร

ขณะเดียวกันต้นไม้ใหญ่ย่อมมีกาฝากมาเกาะกินน้ำและอาหารจากกิ่ง ก้านที่สิงสถิตอยู่แต่มิได้สร้างประโยชน์สิ่งใดให้กับต้นไม้ต้นนี้สักนิดเดียว ย่อมเปรียบได้กับบุคคลในองค์กรที่คอยเกาะกินเงินเดือนจากองค์กรไปวันๆ หรือจะเป็นกาฝากของสังคมที่คอยบ่อนทำลายสังคมมากกว่าที่จะจรรโลงสังคมให้ดีขึ้น หวังว่าทุกคนคงต้องย้อนมองดูตัวเองว่าวันนี้เราดำรงตนในนิเวศของสังคมในรูปแบบใด หากคิดได้แล้วปรับปรุงตนเพื่อนิเวศแห่งความสุขอย่างยั่งยืนก็ยังนับว่าไม่เสียชาติเกิด...

เขียนโดย"ฟ้าโปรย"
#ความกตัญญูต่อสังคมย่อมสร้างความสุขกันถ้วนหน้า
ภาพและวีดีโอ