เปลี่ยนการแสดงผล
#ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน
12 มิถุนายน 2564 9,151 ครั้ง
#ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน

ทานตะวันมีตำนานมาจากเทพนิยายกรีก ซึ่งมีนางไม้ชื่อ Clytie ที่หลงรักเทพอพอลโลซึ่งเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ นางได้เฝ้ามองเทพอพอลโลทุกวันจนผมสีทองของเธอกลายเป็นกลีบสีเหลือง และใบหน้ากลายเป็นดอกทานตะวันชื่อ Helianthus มาจากคำว่า helios ที่แปลว่าดวงอาทิตย์ กับคำว่า anthos ที่แปลว่าดอกไม้ที่งดงาม

ในโลกแห่งความจริงนั้น ทานตะวันเป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกากลาง มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการปลูกในประเทศเม็กซิโกมากว่า 4600 ปี สิ่งที่ยังเหมือนในตำนานก็คือแสงจากดวงอาทิตย์ยังคงมีอิทธิพลต่อดอกทานตะวัน โดยดอกทานตะวันจะหันตามดวงอาทิตย์  พฤติกรรมของดอกทานตะวันหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ เป็นการตอบสนองแบบ Positive Phototropism คือการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเพียงด้านเดียวนั่นคือแสงอาทิตย์ ซึ่งมีผลต่อฮอร์โมนออกซินที่มีอยู่ในทานตะวันมาก ทำให้ด้านที่รับแสง ฮอร์โมนออกซินจะน้อยเพราะฮอร์โมนออกซินจะกระจายตัวไปด้านที่ไม่ได้รับแสง ทำให้ด้านที่ไม่ได้รับแสงมีการยืดตัวและเจริญเติบโตได้ดีกว่าด้านที่รับแสง จึงทำให้ยอดของต้นทานตะวันโค้งเบนเข้าหาแสงจึงดูเหมือนว่าดอกทานตะวันคอยหันหน้ามองพระอาทิตย์ตลอดเวลา 

แต่พฤติกรรมเช่นนี้จะเกิดในช่วงที่ทานตะวันยังไม่แก่มากนัก ส่วนดอกทานตะวันที่แก่หรือเหี่ยวแล้วจะหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นการหันตามพระอาทิตย์ไปเป็นครั้งสุดท้ายแล้วไม่หันกลับตามมาอีกในวันรุ่งขึ้น  ความแปลกในพฤติกรรมของดอกทานตะวันและความสวยงามจึงเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป จนกระทั่งมีการแต่งเพลงเพื่อเปรียบเปรยการแอบรักของหนุ่มที่แทนตัวเองด้วยไม้ขีดไฟก้านน้อยที่มีต่อหญิงสาวงามดั่งดอกทานตะวันที่สนใจแต่ดวงอาทิตย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า สุดท้ายเจ้าไม้ขีดน้อยยอมจุดตัวเองให้ลุกเป็นไฟขึ้นมาเพียงปรารถนาให้ดอกทานตะวันหันมามองสักครั้ง แต่ตนเองก็สลายกลายเป็นเถ้าถ่านจากลาไป ภายใต้ชื่อเพลง"ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน" 
คำร้อง: คุณประภาส ชลศรานนท์
ทำนอง: คุณเกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์
ศิลปิน: คุณวิยะดา โกมารกุล ณ นคร

แต่ผู้เขียนอยากสะท้อนเพลงนี้เป็นการเปรียบเปรยการทำฝนหลวงที่พวกเรามีความห่วงใย ตั้งใจที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ก็มีหลายๆคนที่ยังอาจไม่เข้าใจ และไม่รับฟัง ว่าขบวนการทำฝนนั้นเป็นอย่างไร จนทำให้มองว่าวิธีการทำฝนหลวงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นล้าสมัยควรที่จะพัฒนาหรือใช้เทคโนโลยีที่ต่างประเทศใช้กันอยู่

กรมฝนหลวงฯก็พยายามสร้างการรับรู้ความเข้าใจด้วยสื่อต่างๆ ให้ทราบถึงขบวนการเกิดเมฆเกิดฝนในภูมิภาคบ้านเราซึ่งเป็นเขตร้อนชื้น เทคโนโลยีที่ใช้อยู่คือตำราฝนหลวงพระราชทานนั้นมีความเหมาะสมยิ่งนักสามารถที่จะก่อเมฆ เลี้ยงเมฆ และโจมตีเมฆได้ ต่างจากประเทศอื่นๆที่ต้องรอคอยการโจมตีเมฆเพียงอย่างเดียว หากไม่มีเมฆก็จะทำฝนไม่ได้ และหลายๆประเทศในภูมิภาคแถบนี้ก็ต้องการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน โดยเฉพาะขั้นตอนก่อเมฆ

ที่สำคัญการทำฝนหลวงนั้นต้องขึ้นกับเงื่อนไขของสภาพอากาศ และพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนบ้านเรามีมากกว่า 110 ล้านไร่ซึ่งจะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงในทุกปี ฝนหลวงเป็นแค่หนึ่งวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้ลดลง แต่ไม่ใช่วิธีที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร จึงทำให้หลายๆท่านอาจจะมองว่าฝนหลวงไม่มีประสิทธิภาพเพราะหลายๆพื้นที่บางครั้งเสียหายจากภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงโดยสิ้นเชิง เพราะด้วยศักยภาพที่เรามีอยู่และเงื่อนไขของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปที่จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวจำนวน 110 กว่าล้านไร่ได้ครอบคลุมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความตั้งใจของพวกเรานั้นเกินร้อยจนบางครั้งเรารู้สึกเหมือนก้านไม้ขีดไฟเล็กๆที่รอคอยดอกทานตะวันที่ไม่เคยเข้าใจเราได้หันมามอง มาฟังเราอย่างใจเป็นธรรมกันบ้าง

เฉกเช่นเดียวกันภายในองค์กรคงไม่ต้องให้ผู้บริหารเป็นดั่งไม้ขีดไฟที่จะหวังให้ดอกทานตะวันที่บานอยู่เต็มองค์กรหันมามองสักครั้งเพื่อที่จะพร้อมใจกันมุ่ง มั่น พัฒนาองค์กรให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน มิฉะนั้นอาจจะสายเกินไปกับความเข้าใจและการสานต่อเจตนารมณ์ร่วมกันได้...

 เขียนโดย"ฟ้าโปรย"
#ความปรารถนาดีอาจจะไม่ใช่ความต้องการของผู้รับเสมอไป
ภาพและวีดีโอ