เปลี่ยนการแสดงผล
#บทเรียนจากวัคซีน
13 มิถุนายน 2564 468 ครั้ง
#บทเรียนจากวัคซีน
ณ เวลานี้ กระแสที่มาแรงที่สุดอย่างต่อเนื่อง บนโลกใบนี้คงไม่พ้นเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโรคโควิด-19 ที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน

การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและแพร่ไปทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 176 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากเจ้าโรคร้ายไปแล้วมากกว่า 3.8 ล้านราย สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไปแล้วรวม 190,000 กว่าราย และเสียชีวิตไปแล้วรวม 1,400 กว่าราย สิ่งที่จะหยุดการระบาดของเจ้าโรคร้ายตัวนี้ได้นั้นก็คือความร่วมมือของพวกเราทุกคนที่จะรับการฉีดวัคซีน

วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมี 3 ชนิดด้วยกันคือ

 1. วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม ได้แก่ เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) วัคซีนกลุ่มนี้ ใช้เทคโนโลยีใหม่สังเคราะห์สารพันธุกรรมเอ็มอาร์เอ็นเอ(messenger RNA: mRNA) ที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัส วัคซีนจะทำหน้าที่พา mRNA เข้าเซลล์ และ กํากับให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนสไปค์ของเชื้อไวรัส ซึ่งโปรตีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ  วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna

 2. วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) วัคซีนกลุ่มนี้ใช้ไวรัสที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรม เช่น ไวรัสอะดีโน (Adenovirus)โดยนำมาดัดแปลงพันธุกรรมให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ และใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด19 ติดไปด้วย เมื่อนํามาฉีดไวรัสพาหะเหล่านี้จะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งระบบให้สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสโรคโควิด19 ตามสารพันธุกรรมที่ใส่เข้าไป ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Astra Zeneca, CanSinoBio, Johnson and Johnson และ Gamaleya 

 3. วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) ผลิตโดยการ สร้างโปรตีนของเชื้อไวรัส ด้วยระบบ cell culture, yeast, baculovirus เป็นต้น แล้วนํามาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อต้านโปรตีนสไปค์ของไวรัสโรคโควิด19 วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันคือ วัคซีนแบรนด์ Novavax

 4. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) วัคซีนกลุ่มนี้ผลิตโดยนําไวรัสโรคโควิด19 มาเลี้ยงขยายจํานวนมาก และนํามาทำให้เชื้อตาย  การฉีดวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสทุกส่วน เสมือนได้รับเชื้อไวรัสโดยตรงแต่ไม่ทำให้เกิดโรค เพราะเชื้อตายแล้วได้แก่ วัคซีนของบริษัท Sinovac และ Sinopharm

ปัจจุบันบ้านเรามีใช้อยู่ 2 ชนิดคือ วัคซีนของบริษัท Astra Zeneca และ Sinovac และกำลังจะมีวัคซีนทางเลือกคือ Sinopharm ในเร็วๆนี้
วัคซีนทุกชนิดที่ใช้อยู่ในโลกนี้ถือเป็นวัคซีนเร่งด่วนที่อนุมัติให้ใช้โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่และมีการแพร่ระบาดและคร่าชีวิตพวกเราไปเป็นจำนวนมาก จะรอผลการวิจัยวัคซีนให้สมบูรณ์เหมือนวัคซีนชนิดอื่นๆคงไม่ทัน เมื่อถึงเวลานั้นมนุษย์อาจจะสูญสิ้นไปหมดโลกนี้ก็เป็นไปได้
พวกเราจึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากวัคซีนแต่ละตัวที่ถูกนำมาใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแม้แต่ยาหรือวัคซีนที่มีการพัฒนามาเป็นเวลาช้านานบางคนก็อาจมีอาการแพ้เกิดขึ้นได้ ตามสภาพร่างกายของแต่ละคน 
หากเราทำความเข้าใจและเปิดใจ คิดวิเคราะห์ถึงผลดี ผลเสียต่อการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนแล้ว เราคงได้คำตอบเหมือนกันคือ รีบฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เพื่อร่างกายของเราจะได้สร้างภูมิคุ้มกัน เท่ากับสร้างโอกาสให้ตนเองลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยหากติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาจริงๆ ถือว่าเป็นโอกาสทองของเราที่ไม่ต้องมานึกย้อนเวลา เสียดายเวลาว่า รู้อย่างนี้น่าจะฉีดตั้งนานแล้ว...
พี่น้องชาวกรมฝนหลวงฯส่วนกลางและตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงบางส่วนได้เริ่มทยอยรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2564 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ให้บริการเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และอาสาสมัครอีกส่วนหนึ่ง
วัคซีนที่พวกเราได้รับเป็นวัคซีนจากบริษัท Astra Zeneca จำกัด ที่ผลิตโดยบริษัท Siam Bioscience จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่ชาวกรมฝนหลวงฯและพี่น้องประชาชนชาวไทยที่ได้รับวัคซีนนี้...
การบริหารจัดการในการฉีดวัคซีนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นอย่างยิ่ง เริ่มตั้งแต่ระบบคัดกรอง สอบถามประวัติสถานภาพร่างกายปัจจุบัน และการแพ้ต่างๆผ่านระบบแอปพลิเคชันเป็นระบบที่ไม่ใช้กระดาษเลยสักแผ่นเดียว ตามด้วยจุดพักคอยด้านล่างของอาคารอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการแซงคิว มีการเว้นระยะห่าง และการทำความสะอาดตลอดเวลา จนมาถึงจุดที่จะทำการฉีดวัคซีน
พื้นที่การฉีดวัคซีนจะอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคาร มีการจัดเก้าอี้ให้ผู้รับการฉีดไว้เป็นจำนวนมาก จะมีเจ้าหน้าที่คอยยกธงเขียวตรงเก้าอี้ที่ว่างเพื่อให้ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนคนต่อไปเข้าประจำที่เมื่อเข้าประจำที่แล้วจะมีทีมบุคลากรทางการแพทย์มาซักประวัติอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะประวัติการแพ้ต่างๆ และวัดความดัน หากความดันสูงจะไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นทุกท่านต้องเตรียมพร้อมร่างกายไปให้ดี ท่านที่กินยาควบคุมความดันอยู่จะต้องไม่งดยา พักผ่อนนอนหลับให้เต็มอิ่ม งดกาแฟ และชา ดื่มน้ำให้มากๆไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาเข้าห้องน้ำเพราะห้องน้ำมีจำนวนมาก และไม่มีการห้ามเข้าห้องน้ำ
ผู้เขียนเองยังลุกไปเข้าห้องน้ำระหว่างนั่งรอการฉีดเลยเพราะด้วยความตื่นเต้นส่วนหนึ่งจากการกลัวเข็ม และดื่มน้ำมากจริงๆตามคำแนะนำเพราะกลัวเกิดสภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ผลการวัดความดันของผู้เขียนอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ถือว่าสูงกว่าปกติของความดันตนเองมากพอสมควรเพราะอย่างที่บอกด้วยความตื่นเต้นและแอบกลัวเข็มเป็นพื้นฐาน
พอตรวจวัดความดันและซักประวัติผ่านจะได้แผ่นป้ายสีเขียว เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ให้ทีมฉีดวัคซีนนำวัคซีนมาฉีดได้ กรณีการซักประวัติแล้วเกิดความสงสัยว่าจะฉีดได้หรือไม่ก็มีการชูแผ่นป้ายสีแดงขึ้นเพื่อขอคำวินิจฉัยจากแพทย์อีกครั้ง หลังการฉีดวัคซีนเสร็จจะได้รับแผ่นป้ายสีฟ้า และให้นั่งจับเวลาเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 20 นาทีหากครบเวลาแล้วให้ชูป้ายสีฟ้านี้ขึ้นเพื่อบุคลากรทางการแพทย์จะมาเก็บป้ายและทักทายถามอาการ พร้อมให้กำลังใจและให้กลับบ้านได้ แล้วบุคลากรดังกล่าวจะยกธงเขียวขึ้นเพื่อให้คนต่อไปเข้านั่งประจำที่
หลังจากการได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีให้สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อประเมินการให้บริการ ก็ประเมินไปด้วยความพึงพอใจเต็มร้อยแบบไม่ต้องคิดเพราะเป็นการบริการที่ดีเป็นระบบจริงๆ แถมยังมีน้ำดื่มและสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือวางไว้ให้หยิบได้ตามความต้องการ(แต่ใครจะกล้าหยิบมากกว่า 1 ขวดใช่มั้ย เราต้องเผื่อแผ่คนข้างหลังด้วย)
ระหว่างนั่งรอการฉีดก็มีการแสดงดนตรีของวง KU band และ KU chamber เพื่อสร้างความบันเทิงและผ่อนคลายให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน และมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในข้อควรปฏิบัติหลังจากการฉีดวัคซีน และจะมีระบบ sms ถึงผู้รับการฉีดวัคซีนทุกท่านเพื่อประเมินผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นลงในแอพพลิเคชั่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในชื่อ "CRA Care"
จำนวนผู้เข้ารับบริการในวันนั้นทั้งสิ้น 5,000 ราย แต่ผู้ให้บริการทุกท่านตามจุดต่างๆมีการบริการด้วยจิตบริการเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีการหยุดพักกลางวัน มีแต่บุคลากรที่ให้บริการผลัดกันหยุดรับประทานอาหารกลางวัน เท่าที่สังเกตุทุกคนให้บริการด้วยรอยยิ้มอันน่าประทับใจ
ส่วนอาการผลข้างเคียงของแต่ละบุคคลจะค่อนข้างแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนๆกันเป็นส่วนใหญ่ในเบื้องต้นคือ หิวข้าว และง่วงนอน บางคนอาจจะมีไข้เล็กน้อย บางคนอาจจะมีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย เหนื่อย แต่ได้พักผ่อนและทานยาลดไข้ก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ ส่วนบางคนที่อาจจะมีอาการแน่นหน้าอกและอาเจียนราวมด้วย ถ้ากังวลมากก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ ก็จะกลับเป็นปกติภายใน 2-3 วัน ตามข้อมูลจากกลุ่มของชาวกรมฝนหลวงฯจำนวน 100 ราย 
แล้วท่านล่ะมีอาการผลข้างเคียงเป็นอย่างไรกันบ้างและปฏิบัติตนกันอย่างไรมาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนต่อไป
สำหรับนักบินล่าเมฆของเราหลังจากได้รับวัคซีนแล้วต้องเฝ้าระวังไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงซึ่งเป็นไปตามหลักนิรภัยการบิน จึงส่งผลให้บางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงของเราต้องหยุดบินล่าเมฆช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นเวลาประมาณ 2 วันถึงแม้เงื่อนไขของสภาพอากาศจะเป็นใจให้ทีมนักล่าเมฆก็ตาม จึงต้องขออภัยและแจ้งมาให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้ทราบด้วย แต่ถ้าหากพวกเราติดโควิด-19 ขึ้นมาแล้วเราจะต้องปิดหน่วยปฏิบัติการไม่ต่ำกว่า 14 วัน
จากประสบการณ์การเข้ารับการฉีดวัคซีนของพวกเราชาวกรมฝนหลวงฯจำนวน 100 ราย จะเห็นได้ว่าผลข้างเคียงของวัคซีนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด อย่างที่เป็นไปตามกระแสข่าว บางครั้งการเสพข่าวมากไปก็ทำให้เราเกิดความกังวลจนขาดสติ... ดีที่สุดร่วมกันลงทะเบียนรีบฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เร็วที่สุดเพื่อพวกเราจะได้ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หยุดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้ได้แล้วพวกเราจะได้กลับมามีชีวิตที่สนุกสนาน สบาย สบาย ตามวิถีชีวิตแบบคนไทยดังเดิม
เขียนโดย"ฟ้าโปรย"
#เตรียมพร้อมและปฏิบัติตามย่อมสำเร็จ
ภาพและวีดีโอ