เปลี่ยนการแสดงผล
#พลังบวกกับคุณค่าแห่งกาลเวลา
26 มิถุนายน 2564 101 ครั้ง
#พลังบวกกับคุณค่าแห่งกาลเวลา
"วันหยุดนี้เธอจะไปเที่ยวไหนล่ะ..."
"ส่วนตัวฉันนั้นงานยุ่ง งานด่วน ต้องเข้าไปทำงาน ทำงานไม่มีวันหยุดเลย น่าเบื่อจริงๆ..."
"ฉันต้องการ Work-life balance ..."

ประโยคเหล่านี้คงเป็นประโยคยอดฮิตสำหรับมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน เพราะคนที่พูดคิดว่าตนเองนั้นไม่มีสมดุลในชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว เลยพาลเป็นทุกข์ในใจให้ตนเองเสมอๆ... แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดประโยคดังกล่าวล่ะ คนที่พูดได้รู้ถึงสาเหตุกันหรือไม่? แล้วจะมีวิธีจัดการกับการมี Work-life balance ได้อย่างไร? วันนี้เรามาลองทำความเข้าใจและสร้างความคิดพลังบวกสำหรับเรื่องนี้ให้กับตนเองเพื่อความสุขสำหรับชีวิตที่เหลือกันดีกว่า

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับกันก่อนว่า สิ่งที่เหมือนกันทุกคนคือการมีเวลาเท่ากันจำนวน 24 ชั่วโมงใน 1 วัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันของแต่ละคนคือ สิ่งที่ต้องการกระทำนอกเหนือจากงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความฝันของตนเอง งานอดิเรกและความชอบที่จะสร้างพลังให้กับตนเอง สุขภาพร่างกายที่ต้องบำรุงรักษาเพื่อให้มีแรงและประสิทธิภาพในการทำงาน การดูแลครอบครัว การพัฒนาศักยภาพตนเอง การพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆที่สนใจนอกเหนือจากงาน ไม่ใช่จะมีแต่งาน งาน และงาน ข้อสำคัญแต่ละคนมีการบริหารจัดการเวลาไม่เหมือนกัน

หากเรายอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นแล้ว เรามาฟังวิธีการบริหารจัดการเวลาเพื่อให้เกิดความสุขกันมากขึ้นดีกว่า... การบริหารจัดการเวลาเพื่อ Work-life balance ให้ตนเองมีความสุขนั้นแต่ละคนต้องเข้าใจพื้นฐานชีวิตของตนเองก่อน ทั้งในเรื่องงาน ช่วงอายุ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา นั่นหมายความว่าเรานั่นเองที่เป็นผู้กำหนดตั้งแต่แรกว่าเราจะสร้าง Work-life balanceให้กับตนเองหรือไม่อย่างไรด้วยเงื่อนไขดังนี้

  1. อาชีพหรืองาน อาชีพแต่ละอาชีพ หรืองานแต่ละงานอาจมีลักษณะที่เรียกร้องเวลาการเป็นส่วนตัวของเราไปหมดสิ้น โดยไม่สามารถแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นได้เลย เนื่องจากต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อทำงานให้ออกมาทันกับเวลาหรือต้องทำงานกลางคืน หากต้องการทำงานลักษณะแบบนี้ก็ต้องเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อม และพิจารณาเงื่อนไขของสภาพชีวิตของเราตอนนั้นสามารถทำได้หรือเปล่า เพราะงานลักษณะเช่นนี้ยากที่จะสร้างสมดุลให้กับชีวิต หรือ Work-life balance ได้เลย

  2. ช่วงของชีวิตการทำงานก็มีผลต่อ Work-life balance  เนื่องจากแต่ละช่วงชีวิตของเราย่อมมีความรับผิดชอบเรื่องที่สนใจ หรือเป้าหมายที่จะทำให้ดีที่แตกต่างกันไป ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานเป็นช่วงชีวิตที่ยังโสด ไม่ต้องรับผิดชอบผู้อื่นมากมาย จึงอาจไม่ต้องการเวลากับการดูแลผู้อื่นมากนัก แต่อาจต้องการเวลาไปกับการคบเพื่อนฝูง มีกิจกรรมร่วมกัน การออกกำลังกายหรืองานอดิเรก พอหลังจากมีคู่รักมีครอบครัว ทำให้การใช้เวลาของชีวิตเปลี่ยนไป ต้องมีเวลาในการรับผิดชอบต่อครอบครัวมากขึ้น รูปแบบการบริหารจัดการเวลาจึงเปลี่ยนไป เราจำเป็นที่จะต้องลดในบางเรื่องและเพิ่มในบางเรื่อง รูปแบบการบริหารจัดการเวลาของช่วงเวลาหนึ่งจึงอาจไม่เหมาะสมกับอีกช่วงเวลาหนึ่งก็ได้

3. วิธีการทำงาน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามาเอื้อต่อการทำงานมากมาย จึงทำให้เราสามารถทำงานทุกที่ ทุกเวลา ได้พร้อมกับการใช้ชีวิตส่วนตัวนั่นเอง เราจึงอาจจะใช้รูปแบบการทำงานผสมผสานที่ไม่ได้ตัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไปอย่างชัดเจนตามแผนการใช้เวลาของเราหรือ Work-life integration ทดแทนการทำงานแบบ Work-life balance ซึ่งค่อนข้างเหมาะกับยุคสมัยนี้พอควร ที่หลายๆคนอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับการ work from home จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำงานไปพร้อมกับอยู่กับครอบครัวไปด้วย(คนที่ไม่ชอบอยู่กับครอบครัวมากนักอาจจะยิ่งทุกข์นะถ้าเลือกวิธีนี้555)

4. การจัดลำดับความสำคัญ เพราะในชีวิตจริงของคนเราบางครั้งอาจไม่สามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้พร้อมๆกันในเวลาเดียวกัน นั่นหมายความว่าบางครั้งเราต้องมีการยืดหยุ่นเพื่อเลือกทำเรื่องที่สำคัญกว่าในเวลานั้นเสียก่อน เช่น มีโปรเจคต์สำคัญต้องเร่งทำให้เสร็จแถมจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเราอีกด้วย ก็ควรที่จะเลือกเร่งทำโปรเจคต์ให้สำเร็จ ก่อนที่จะขอลาหยุดและใช้ช่วงเวลาที่ลาหยุดอย่างมีคุณภาพทดแทนการหยุดพักแบบเชิงปริมาณ

5. ไม่ควรที่จะเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิตของผู้อื่นมากนัก การมีภาพจำในความสำเร็จของบุคคลอื่นที่สามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้ในเวลาเดียวกัน มากเกินไป อาจทำให้เราเกิดความท้อได้ แต่อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าแต่ละคนนั้นมีพื้นฐานที่แตกต่างกันบางคนอาจจะมีความพร้อมทุกด้านที่สามารถจะให้เวลากับการทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันมากเกินไป แต่เราอาจดูเป็นตัวอย่างเพื่อพัฒนาจุดด้อยของตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

6. การสร้างเพื่อนในที่ทำงานหรือการทำงานแบบจับคู่กับเพื่อนอาจเป็นแนวทางในการแบ่งปันเวลาให้แก่กันและกันหรือทำงานแทนกันได้ในยามจำเป็นหรือ Work-life sharing ขึ้นมาทดแทน Work-life balance ก็ไม่เลวนะ

7. สุดท้ายหากเราไม่มีทางเลือก เราควรปล่อยวางหรือเลิกสร้างเงื่อนไขกับตนเองมากเกินไปเพราะความจริงในการดำรงชีวิตของคนเราต้องการเพียงปัจจัย 4 เป็นพื้นฐานนั่นคือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค หรือบางคนอาจจะเถียงว่าทั้งสมาร์ทโฟน และหน้ากากอนามัยก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องปล่อยวางและยอมรับกับสิ่งที่เป็นในปัจจุบันนั่นคือการทำงานแบบ Work-life simply ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สร้างความสุขได้ดีทีเดียว

เล่ามาถึงตรงนี้ชาวฝนหลวงที่ต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างน้อย 8 เดือนเต็มโดยไม่มีวันหยุดราชการ ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ จนทำให้หลายๆคนโหยหา Work-life balance ในแบบฉบับของตนเอง คงเริ่มเข้าใจเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่เป็นอยู่ด้วยลักษณะของงาน ด้วยพื้นฐานของตัวเรา และที่สำคัญหากเราเข้าใจในการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่เข้ามาในชีวิต อีกทั้งรู้จักยืดหยุ่นและใช้เวลาอย่างมีคุณภาพมากกว่าการใช้ปริมาณเวลาเพื่อจะสร้างสมดุลให้กับชีวิตการทำงานได้แล้ว วันนั้นจะเป็นวันที่เริ่มต้นความสุขแห่งการออกแบบ Work-life balance เป็นแบบฉบับบของตนเอง

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#กระทำทุกอย่างด้วยความสุขย่อมได้รับความสุข
ภาพและวีดีโอ