เปลี่ยนการแสดงผล
อาชีพในฝันที่ฉันรัก
11 สิงหาคม 2564 206 ครั้ง

“นวนิยาย” หรือ “นิยาย” เป็นวรรณกรรมที่โดดเด่นในการนำเสนอเรื่องราว บรรยายภาพและภาษาที่งดงาม คนที่ชอบอ่านนิยายเป็นประจำจะมีลักษณะพิเศษคือมักเป็นคนที่สมาธิดี ใช้ภาษาไทยได้สละสลวย และมีความคิดสร้างสรรค์ ในอดีตนวนิยายของไทยที่โด่งดังมีด้วยกันหลายเรื่อง เช่น “คู่กรรม” ประพันธ์โดยทมยันตี ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายครั้งหลายหน โดยดำเนินเรื่องที่มีฉากหลังเป็นประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโกโบริเป็นพระเอกคู่กับนางเอกคืออังศุมาลิน ผู้คนสมัยนั้นติดละครเรื่องนี้มากจนมีคำเปรียบเปรยว่า…รถ ในกรุงเทพฯ ไม่ติดอยู่ 2 วัน นั่นคือวันที่โกโบริตาย กับวันที่เขาทรายต่อย…
ย้อนไปอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มเกิดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ประเทศไทยได้เข้าไปมีส่วนในประวัติศาสตร์ครั้งนั้นด้วยการส่งทหารเข้าไปช่วยญี่ปุ่นในการรบ หลังสงครามสงบลงไทยต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและขาดแคลนสินค้าที่จำเป็นเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก พร้อมทั้งเกิดปรากฎการณ์หนึ่งคือ “เบบี้บูม (Baby Boom)” ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ด้านประชากรศาสตร์ที่มีอัตราการเกิดมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เนื่องจากในช่วงสงครามนั้นชายส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์เป็นทหารเพื่อเข้าร่วมสงคราม เมื่อบ้านเมืองสงบจึงต้องเร่งผลิตประชากรขึ้นมา ประกอบกับในช่วงดังกล่าวมีการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขช่วยลดอัตราการตายของทารก ทำให้ประชากรที่เกิดในช่วงเบบี้บูมมีจำนวนมากซึ่งหนึ่งในนั้นคือข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นเบบี้บูมเมอร์ที่เกิดช่วงนั้นพร้อม ๆ กับเด็กคนอื่นจำนวนมาก (จำนวนเด็กเกิดมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี) ชีวิตในวัยเด็กได้เห็นความลำบากของพ่อแม่ ต้องช่วยทางบ้านทำงานหาเงินพร้อมกับได้รับการปลูกฝังเรื่องความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และอดออมแต่ไม่ให้เอาเปรียบใคร ถึงแม้ครอบครัวจะไม่มีฐานะแต่พ่อแม่มีความคิดว่าต้องพยายามส่งลูกให้เรียนหนังสือเพื่อลูกจะได้ไม่ต้องมาลำบากเหมือนตน แต่ยุคนั้นมีการแข่งขันด้านการศึกษาสูงมากด้วยมีคนรุ่นราวคราวเดียวกันจำนวนมาก ชีวิตของเบบี้บูมเมอร์อย่างข้าพเจ้าต้องผ่านความยากลำบากและช่วงเวลาการแข่งขันที่สูงมากครั้งแล้วครั้งเล่าในขณะที่มีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้าเรียนต่อ มศ. 1 หรือ มศ. 4 แม้กระทั่งการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องแข่งกันหลายแสนคน เพื่อจะชิงเก้าอี้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดย “คืนส่องเทียน” เป็นคืนประกาศผลสอบเอนทรานซ์ที่สนามจุ๊บซึ่งปิดประกาศ 4-5 ทุ่ม เด็กกรุงเทพฯ ไปรอดูประกาศต้องจุดเทียนดูเพราะสนามมืดมาก คืนนั้นมีทั้งเสียงเฮลั่นด้วยความดีใจปะปนกับเสียงร้องไห้ด้วยความผิดหวัง ส่วนเด็กต่างจังหวัดก็ต้องรอตรวจสอบชื่อจากหนังสือพิมพ์รายวัน หรือฟังประกาศผ่านโทรทัศน์ด้วยใจตุ๊บ ๆ ต่อม ๆ สมัยก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชน ถ้าสอบไม่ติดก็ต้องรอไปปีหน้าค่อยสอบใหม่ หรือไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเปิดแทน
ในตอนนั้นข้าพเจ้ามีอายุเพียง 17 ปี ตอนไปสอบเอนทรานซ์ได้วางเป้าหมายของตัวเองไว้คือต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะอะไรก็ได้ แล้วเรียนให้จบออกมาทำงานเป็นข้าราชการเพื่อตอบแทนพระคุณบิดามารดาและทำให้ครอบครัวสบายขึ้น ในความเป็นจริงข้าพเจ้าได้เรียนคณะที่ไม่ใช่ที่ตัวเองชอบมากที่สุดก็ตาม แต่ด้วยความเป็นมนุษย์เบบี้บูมเมอร์ที่มีลักษณะอดทน มีวินัย ขยันประหยัด รักชาติ และสามัคคี (คำขวัญวันเด็กสมัยก่อน) จึงตั้งใจเรียนจนจบและผ่านการสอบแข่งขันเข้ารับราชการสมดังตั้งใจ เวลาได้ยินพ่อแม่เล่าให้เพื่อน ๆ ฟังว่าลูกเรียนจบและทำงานเป็นข้าราชการ ดูท่านมีความสุขมากซึ่งก็พลอยทำให้เรารู้สึกมีความสุขตามไปด้วย  
เมื่อมองย้อนกลับไปช่วงเวลาอันยากลำบากนานนับหลายปี กว่าจะได้เป็นข้าราชการดังฝันต้องฟันฝ่าอุปสรรคและความท้าทายมากมาย แต่ผลลัพท์ที่ได้มาคุ้มค่าและมีความหมาย ข้าราชการอาจถูกมองว่าเป็น “เจ้าคนนายคน” แต่สำหรับข้าพเจ้าคิดอยู่เสมอว่าข้าราชการคือ “ข้าของราชการ” หรือเป็นผู้ทำงานให้กับราชการ นั่นเอง การเป็นข้าราชการเป็นความฝันของข้าพเจ้าก็จริง แต่ต้องเป็น “ข้าราชการที่ดี” ด้วย จึงจะถือว่าบรรลุความสำเร็จตามความฝัน สิ่งที่ทำได้คือใช้ลักษณะของการเป็นมนุษย์เบบี้บูมเมอร์ มุ่งมั่นปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด โดยยึดมั่นในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรีอน ความตอนหนึ่งว่า “เป้าหมายของการปฏิบัติราชการ คือประโยชน์สุขของประชาชน และความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ" ซึ่งเป็นแนวทางที่ข้าพเจ้าตั้งใจและจะประพฤติปฏิบัติตลอดไป แต่ข้าพเจ้าคนเดียวก็คงจะทำอะไรให้ประชาชนได้ไม่มากนัก หากเพื่อนข้าราชการทั้งหลายมาร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างประโยขน์ให้มากขึ้น ย่อมเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่แก่ประชาชนอย่างแน่นอน

เขียนโดย "เบบี้บูมเมอร์"

ภาพและวีดีโอ