เปลี่ยนการแสดงผล
๒๙ ธันวาคม "วันสายรุ้ง”
29 ธันวาคม 2564 1,088 ครั้ง

หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นพระโอรสลำดับที่ ๕ ของพระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยและหม่อมเพี้ยน เทวกุล ซึ่งมีพระนามเมื่อแรกเกิดว่า “หม่อมราชวงศ์ท้าวเทวา เทวกุล” ได้รับพระราชทานนาม จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริว่า “ท้าวเทวา” เป็นชื่อของพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดจะเป็นการเกินวาสนาของเด็กไป จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า “เทพฤทธิ์”

ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากองวิศวกรรมนั้น แนวพระราชดำริในเรื่องการทำ “ฝนหลวง” ก็ถือกำเนิดขึ้นและนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งขณะนั้นกำลังมีชื่อเสียงจากผลงานการประดิษฐ์ควายเหล็กเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานแนวความคิดนั้นแล้ว ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ ได้กราบบังคมทูลสัญญาว่าจะศึกษาปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าว่า “ให้หม่อมเทพฤทธิ์ ไปคิด ไปถาม ไปสืบ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ หายตัวไปนาน วันหนึ่ง มาบอกว่าทำได้แล้ว”

ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ใช้เวลา ๒ ปี ในการศึกษากรรมวิธีการทำฝนจากเอกสารพระราชทานทั้งหมดและร่วมมือกับ ดร.เรณู สุวรรณสิทธิ์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลังในเวลานั้นติดต่อกับสถาบันต่างประเทศให้จัดหารายงานเรื่องการทำฝนเพิ่มเติม ไม่เพียงแต่มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าตำราวิชาการต่างๆ เท่านั้น หม่อมราชวงค์เทพฤทธิ์ ยังทุ่มเทอย่างจริงจังในทุกทางที่จะค้นคว้าทดลอง หาวิธีการทำฝนเทียมให้ได้ดังพระราชประสงค์ ด้วยความสามารถและความเชี่ยวชาญในเรื่องเครื่องยนต์กลไกที่มีอยู่เป็นทุน รวมทั้งความใฝ่ฝันในวัยเด็กที่อยากจะเป็นทหารอากาศขับเครื่องบิน ตามที่หม่อมหลวงจิติเทวัญ เทวกุล บุตรชายคนเล็กเล่าให้ฟัง หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์จึงสามารถเรียนและสอบได้ตามหลักสูตรของสโมสรการบินพลเรือนด้วยการเรียนครั้งเดียว และสอบได้ประกาศนียบัตรเป็น "นักบิน” เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๕

หลายต่อหลายครั้ง ที่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ ขึ้นบินนำหน้าเครื่องบินพระที่นั่งเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับเครื่องบินพระที่นั่งในทุกครั้งที่ขึ้นบิน รหัสเรียกขานจะมีเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ "สายรุ้ง”

หลังจากครบเกษียณอายุราชการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ในเวลานั้น อายุได้ ๖๑ ปี สํานักงานปฏิบัติการฝนหลวงสํานักงานปลัดกระทรวง และกองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตรได้ตระหนักในเกียรติคุณของผลงานและความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ของม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาผ่านราชเลขาธิการ ขอพระราชทาน ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ให้ปฏิบัติงานช่วยเหลือหน่วยราชการทั้งสอง ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระบรมราชานุญาตให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล มาดํารงหน้าที่ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านฝนหลวงและเกษตรวิศวกรรม แก่หน่วยราชการทั้งสองตลอดมาจนเท่าที่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ภาพและวีดีโอ